เผยภาพจุดจบ “ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์” ที่มีกำเนิดมาจากดาวหางดวงเดียวก่อนแตกกระจายเป็นหลายดวง โดยยานสำรวจอวกาศของหลายองค์กรสามารถบันทึกภาพขณะที่ดาวหางประเภทแตกสลายเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้ และเป็นครั้งแรกที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์นี้ได้
หอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory: SDO) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งโคจรรอบโลกเพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ ได้บันทึกภาพจุดจบของดาวหาง ซึ่งพุ่งชนดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2011 ที่ผ่านมา โดยภาพความละเอียดสูงของยานอวกาศลำนี้ได้เผยให้เห็นดาวหางแตกสลายไปในเวลา 15 นาที ขณะพุ่งเข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ไม่เคยสังเกตพบมาก่อน
ทั้งนี้ สเปซด็อทคอมรายงานว่า เคยมีรายงานการพบดาวหางดังกล่าวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก่อน แต่เป็นครั้งแรกที่สามารถบันทึกภาพขณะเกิดเหตุการณ์ได้ โดยเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานดูแลหอดูดาวอวกาศโซลาร์ไดนามิกส์บอกว่า ด้วยความร้อนที่เข้มมากและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวหางระเหิดไปจนหมดเกลี้ยง
สำหรับดาวหางดวงนี้นักดาราศาสตร์จัดเป็น “ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์” (sun-grazing comet) เพราะเส้นทางโคจรของดาวหางชนิดนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก
นอกจากนี้ หอดูดาวอวกาศโซลาร์แอนด์ฮีลิโอสเฟียริก (Solar and Heliospheric Observatory) ซึ่งเป็นยานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ก็บันทึกภาพวิดีโอของเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้
ขณะเดียวกัน เบอร์นาร์ด เฟลค (Bernhard Fleck) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการโซโฮ (SOHO) ยานสำรวจดวงอาทิตย์อีกดวงให้ความเห็นว่า ดาวหางที่พบจุดจบนี้เป็นหนึ่งในดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์สว่างที่สุดที่ยานโซโฮ บันทึกภาพไว้ได้ โดยมีความใกล้เคียงกับดาวหางคริสตมาส (Christmas comet) ที่พบเมื่อปี 1996
เหตุที่ดาวหางดวงนี้สว่างมากนั้นเพราะมุมในการโคจรของดาวหางที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เข้าไปครึ่งดวง และปรากฏการณ์สว่างมากขึ้นเมื่อดาวหางปะทะอนุภาคที่ร้อนกว่าซึ่งอยู่เหนือพื้นผิวดวงอาทิตย์
ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์เป็นดาวหางที่ค่อนข้างพบได้ทั่วไป และยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่าดาวหางครูทซ์ (Kreutz comets) ซึ่งตั้งชื่อตาม ไฮน์ริช ครูทช์ (Heinrich Kreutz) นักดาราศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นรายแรกที่แสดงให้เห็นว่าดาวหางประเภทนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยนักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางครูทซ์นี้เริ่มจากการเป็นดาวหางดวงเดียว แล้วแตกกระจายเมื่อหลายศตรรษก่อน