xs
xsm
sm
md
lg

ควันหลงวาเลนไทน์ “สตาร์ดัสต์” เดทดาวหาง “เทมเพล1” โดยบังเอิญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองยานสตาร์ดัสต์ขณะใกล้ดาวหางดวงหนึ่ง (เอพี )
นาซาส่ง “สตาร์ดัสต์” เก็บข้อมูล “เทมเพล1” หลังเคยส่งยานไปปะทะดาวหางเมื่อเกือบ 6 ปีก่อนในปฏิบัติการ “ดีพอิมแพค” และในภารกิจล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังได้ข้อมูลว่า ก้อนน้ำแข็งยักษ์นี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ในช่วงเวลาใกล้เที่ยงของวันที่ 15 ก.พ.2011 ตามเวลาประเทศไทยยานสตาร์ดัสต์ (Stardust) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้เข้าไปใกล้ดาวหางเทมเพล 1 (Tempel 1) ในระยะประมาณ 400,000 กิโลเมตร ก่อนที่เคลื่อนที่ผ่านกันไป แต่เนื่องจากเวลาทางฝั่งตะวันตกยังอยู่ในช่วงบรรยากาศของวันที่ 14 ก.พ.อันเป็นวันวาเลนไทน์ ปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกเปรียบให้เป็น "การเดทกันระหว่างดาวหางกับยานสำรวจ"

ความเร็วในการเคลื่อนที่ของยานสตาร์ดัสต์อยู่ที่วินาทีละ 10.9 กิโลเมตร ซึ่งการเข้าใกล้ดาวหางเทมเพล1 ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นพื้นผิวของดาวหาง หลังจากที่เคยเห็นครั้งสุดท้ายจากการปะทะโดยยาน “ดีพอิมแพค” (Deep Impact) เมื่อเดือน ก.ค.2005 ซึ่งหลังจากนั้นดาวหางดวงนี้ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบพอดี และนักวิทยาศาสตร์กำลังตั้งหน้าที่จะสำรวจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดาวหาง

เมื่อปี 2005 ยานดีพอิมแพคได้ยิงวัตถุขนาดพอๆ กับเครื่องซักผ้าได้ปะทะเข้ากับดาวหางเทมเพล 1 เพื่อศึกษาองค์ประกอบของดาวหาง แต่เนื่องจากยานผ่านดาวหางไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ได้เห็นหลุมที่เกิดจากการปะทะครั้งนั้น

หากแต่ยานสตาร์ดัสต์ที่รับภารกิจเสริมในครั้งนี้กลับได้เห็นหลุมดังกล่าว และยังได้เห็นด้วยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงกับดาวหางดวงนี้เมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทั้งนี้ ยิ่งดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าไร ยิ่งสูญเสียสสารมากเท่านั้น เมื่อน้ำแข็งในดาวหางและอนุภาคฝุ่นหลุดลอยสู่อวกาศ

ระหว่างการพบกันโดยบังเอิญนี้ ยานสตาร์ดัสต์ต้องเผชิญเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ เนื่องจากยานอยู่ห่างจากโลกมาเกินกว่าจะได้รับคำสั่งอย่างทันท่วงที หนึ่งในนั้นคือการปกป้องยานจากอนุภาคของดาวหางที่อาจมาปะทะได้ และอีกเหตุการณ์สำคัญอยู่ในช่วง 4 นาทีที่ยานได้เข้าใกล้ดาวหางมากที่สุด ซึ่งยานจะเริ่มส่งภาพข้อมูลวิทยาศาสตร์ของนิวเคลียสดาวหาง

เนื่องจากยานมีความจำกัดและบันทึกภาพที่ให้รายละเอียดสูงได้เพียง 72 ภาพ ดังนั้น การถ่ายภาพจะเกิดขึ้นในจังหวะใกล้ๆ กับระยะที่ยานเข้าใกล้ดาวหางมากที่สุด เพื่อให้ได้ภาพนิวเคลียสของดาวหางเทมเปล 1 ที่ละเอียดที่สุด โดยเวลาที่ยานเข้าใกล้ดาวหางมากที่สุดคือเมื่อเวลาประมาณ 11.40 น.ของวันที่ 15 ก.พ.นี้ และประมาณว่าระยะที่ยานและดาวหางอยู่ห่างกันนั้นคือระยะ 200 กิโลเมตร

ทีมปฏิบัติการคาดหวังว่า ที่สถานีภาคพื้นจะเริ่มได้รับภาพถ่ายในช่วงประมาณ 15.00 น.ในวันเดียวกันนี้ตามเวลาประเทศไทย โดยระยะเวลาในการถ่ายโอนข้อมูลแต่ละภาพอยู่ที่ 15 นาที และจะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงในการถ่ายโอนข้อมูลภาพทั้งหมดของนิวเคลียสดาวหางที่มีความกว้าง 7.5 กิโลเมตร

จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ทิม ลาร์สัน (Tim Larson) ผู้จัดการโครงการของปฏิบัติการครั้งนี้ ประจำห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาอธิบายว่า จากตำแหน่งของโลกตอนนี้ยานสตาร์ดัสต์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่า เมื่อเราส่งคำสั่งไปยังยานสำรวจแล้วต้องรอการยืนยันว่าคำสั่งไปถึงและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการส่งสัญญาณไปกลับเช่นนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 40 นาที
สำหรับปฏิบัติการล่าสุดนี้นาซาเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการโบนัส” (bonus mission) ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 12 ปีในอวกาศ สตาร์ดัสต์เป็นยานอวกาศลำแรก ที่เก็บข้อมูลดาวหางส่งกลับมายังโลก โดยครั้งแรกเป็นการเก็บข้อมูลดาวหางไวล์ด 2 (Wild 2) เมื่อปี 2004 และได้ส่งข้อมูลอนุภาคฝุ่นรอบๆ นิวเคลียสดาวหางกลับมายังโลกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาต่อในปี 2006 ซึ่งภารกิจนี้เป็นเปาหมายหลักของยานสตาร์ดัสต์ แต่เนื่องจากพลังงานในยานยังเหลือนาซาเพิ่มภารกิจสำรวจดาวหางเทมเพล1 ในครั้งนี้ให้อีกภารกิจ

เจ้าหน้าที่ในห้องควบคุมที่ห้องปฏิบัติการเจ็ทแล็บเฝ้าดูการปฏิบัติภารกิจของยานสตาร์ดัสต์ (เอพี)
ภาพจำลองเหตุการณ์ในปฏิบัติการดีพอิมแพค เมื่อปี 2005 (เอพี)
ภาพดาวหางเทมเพล1 เมื่อปี 2005 เพียง 5 นาทีก่อนปฏิบัติการปะทะจะเริ่มขึ้น (เอพี/นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น