“ยานเมสเซนเจอร์” ของนาซาเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธได้สำเร็จ นับเป็นการเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงที่ 1 อย่างที่สุดของชาวโลก เปิดฉากการทำความรู้จักกับดาวที่มีสภาพอากาศแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งเย็นสุดขั้วและร้อนสุดแรง พร้อมส่งตัวอย่างภาพพื้นผิวดาวบางส่วนกลับมา หวังใช้เป็นแนวทางศึกษาโลกอื่น ที่โคจรใกล้ดาวฤกษ์แม่ใกล้ชิดเช่นดาวพุธ
ด้วยเหตุที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นอุปสรรคต่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพราะแค่อุณหภูมิพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็สามารถหลอมละลายตะกั่วได้ ดังนั้น ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายดังกล่าว ยานเมสเซนเจอร์ (Messenger) ของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จึงต้องติดตั้งฉนวนเพื่อป้องกันแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์
แม้แต่เครื่องมือ ที่จะใช้สำรวจผิวดาวเบื้องล่าง ยังต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ได้รับความเสียหายจากความร้อนสูงจากผิวดาวที่สะท้อนขึ้นมา ตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซีนิวส์แห่งอังกฤษ
อีริค ฟินเนอร์แกน (Eric Finnegan) วิศวกรระดับหัวหน้า ในโครงการส่งยานเมสเซนเจอร์ จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (Applied Physics Laboratory) ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) กล่าวว่า ทุกคนต่างมีความสุข และโห่ร้องด้วยความยินดี เมื่อพวกเขาสามารถส่งยานเข้าไปใกล้ดาวพุธมากที่สุดเท่าที่ทำได้
ตอนนี้ยานเมสเซนเจอร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 46 ล้านกิโลเมตร และห่างจากโลกประมาณ 155 ล้านกิโลเมตร ก่อนเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธนี้ ยานเมสเซนเจอร์ได้ผ่านเข้าใกล้ดาวเคราะห์ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยผ่านโลก 1 ครั้ง ผ่านดาวศุกร์ 2 ครั้ง และผ่านดาวพุธอีก 3 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อควบคุมความเร็ว เมื่อยานเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดวงอาทิตย์
เครื่องยนต์ 600 นิวตันของเมสเซนเจอร์ ได้นำยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธ ซึ่ง ดร.ฌอน โซโลมอน (Dr.Sean Solomon) ผู้ตรวจสอบหลักของโครงการ จากสถาบันคาร์เนกีวอชิงตัน (Carnegie Institution of Washington) คาดหวังว่า ในอีกหลายเดือนข้างหน้า จะเกิดการค้นพบที่สำคัญๆ โดยทีมของเขา เริ่มเสนอโครงการปฏิบัติการยานเมสเซนเจอร์แก่นาซาเมื่อ 15 ปีก่อน จนกระทั่งได้สร้างยานและส่งยานเข้าสู่วงโคจรในครั้งนี้
นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร จะควบคุมให้ยานเมสเซนเจอร์เก็บข้อมูลดาวพุธโดยอาศัย 7 เครื่องมือหลักของยาน ระหว่างที่เข้าใกล้ดาวเคราะห์ที่ระดับความสูง 200 กิโลเมตรจากพื้นผิวดาว จากนั้นจะส่งข้อมูลกลับมายังโลก เมื่อยานเย็นตัวลงจากการแยกตัวห่างจากดาวเคราะห์สูงสุดที่ 15,000 กิโลเมตรจากพื้นผิวดาว
อย่างไรก็ดี ดาวพุธมักถูกมองว่าเป็นดาวเคราะห์ที่น่าเบื่อ ไม่มีคุณสมบัติเด่น และสร้างความตื่นเต้นเพียงเล็กน้อยให้แก่ผู้ที่สำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้ หากแต่นักวิทยาศาสตร์ที่รู้จักดาวเคราะห์ดวงนี้ดี มองต่างออกไปว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความพิเศษอย่างยิ่ง
การอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นผิวของดาวพุธบริเวณเส้นศูนย์สูตรมีอุณหภูมิสูงถึง 600 องศาเซลเซียส และยังอาจมีน้ำแข็งที่ขั้วดาว ในหลุมที่มีเงาบดบังตลอดเวลา อีกทั้งดาวเคราะห์ดวงนี้ ยังมีความหนาแน่นมาก ซึ่ง 2 ใน 3 จะต้องเป็นองค์ประกอบของโลหะเหล็ก
ที่สำคัญดาวพุธยังคงมีสนามแม่เหล็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พบในดาวศุกร์และดาวอังคาร
นอกจากนี้ ดาวพุธยังมีหลุมลึก ที่ไม่ได้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาต หรือกิจกรรมของภูเขาไฟ แต่เกิดจากการหดตัว ซึ่งดาวเคราะห์ทั้งดวงได้ลดขนาดลง ตั้งแต่ยุคอดีตของระบบสุริยะ
ทว่า ในขณะนี้ ดาวพุธจะมีเสน่ห์ดึงดูด เพราะอาจจะเป็นคู่มือที่ดีที่สุดแก่เรา ในการอธิบายถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจจะค้นพบต่อไป โดยเฉพาะในดาวเคราะห์ดวงใหม่ ที่โคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์อันแสนไกล ซึ่งโลกใหม่ที่เราค้นพบส่วนใหญ่ ต่างโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเองมาก
“เราจะได้ตรวจสอบองค์ประกอบของดาวเคราะห์ และพิจารณาว่าสุดท้ายแล้ว ดาวเคราะห์มีความหนาแน่นอย่างสูงได้อย่างไร แล้วมีอะไรที่ทำให้กระบวนการก่อตัวของดาวเคราะห์มีสัดส่วนของใจกลาง ที่สูงมาก" ดร.โซโลมอนตั้งข้อสงสัย
"คำตอบของคำถามเหล่านี้ อยู่ในองค์ประกอบของพื้นผิวดาว ที่สามารถส่งข้อมูลทางไกลกลับมาได้ แต่เราต้องเวลา อีกทั้งเราจะถ่ายภาพได้มากขึ้น ซึ่งเป็นภาพความละเอียดสูงขึ้น และมีแสงสว่างดีกว่าภาพที่ได้ระหว่างยานบินผ่าน” ดร.โซโลมอนกล่าว
อย่างไรก็ดี กุญแจสู่ความสำเร็จของความพยายามทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับการซ่อมบำรุงยานแมสเซนเจอร์ในสิ่งแวดล้อมที่โหดร้ายรุนแรง ซึ่งทีมพัฒนาได้ใช้วัสดุเซรามิกส์ ผลิตเป็นฉนวนกันความร้อนให้แก่ยาน และยังได้พัฒนาระบบป้องกันความร้อน ให้แก่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ อีกทั้งส่วนที่เป็นเซลล์อาทิตย์จริงๆ มีเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นกระจก สะท้อนแสงอาทิตย์ออกจากแผง
ทั้งนี้ ยานเมสเซนเจอร์ถูกกำหนดให้อยู่ในวงโคจรรอบดาวพุธเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะโคจรรอบดาวพุธได้ 730 รอบ หากยานยังคงอยู่ในสภาพดีและมีทุนต่อเนื่อง อาจเป็นไปได้ว่าจะขยายเวลาปฏิบัติการออกไปอีก 1 ปี
นอกจากนี้ ทางองค์การอวกาศของยุโรปและญี่ปุ่น ยังได้วางแผนส่งยานไปสำรวจดาวพุธด้วยเช่นกันในช่วงทศวรรษนี้ ในชื่อโครงการ “บีไพโคลอมโบ” (BepiColombo) จะมียานอวกาศ 2 ลำ โดยลำหนึ่งเป็นยานสำรวจขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ที่จะโคจรรอบดาวพุธ และอีกลำเป็นยานสำรวจขององค์การบริหารการบินอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) ซึ่งจะสำรวจสนามแม่เหล็กบริเวณดาวพุธ.