ไม่ใช่แค่ดวงจันทร์ ที่มีหลุมขรุขระเต็มไปหมด “ดาวพุธ” ดาวเคราะห์ดวงเล็กในระบบสุริยะที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ก็มีร่องรอยการถูกระดมยิงอย่างรุนแรง จากหินอวกาศจำนวนมากเช่นกัน
ยานเมสเซนเจอร์ (Messenger) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งเข้าสู่วงโคจรดาวพุธไปเมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นภาพดาวพุธที่เต็มไปด้วยหลุมขรุขระจากการพุ่งชนของอุกกาบาตและดาวหางจำนวนมากตามรายงานของเอพี
ฌอน โซโลมอน (Sean Solomon) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการส่งยานเมสเซนเจอร์กล่าวว่า ดาวพุธได้เผยพื้นผิวออกมาอย่างน้อย 3.5-4 พันล้านปี และบางส่วนของพื้นผิวถูกพุ่งชนอย่างหนักจนมีหลุมอยู่มากมาย และเป็นหลุมกระแทกทุติยภูมิ (secondary crater) จำนวนมาก
เขาบอกว่าเป็นเรื่องน่าแปลก ที่มีหลุมกระแทกทุติยภูมิอยู่มากมาย อันเกิดจากการหินอวกาศพุ่งชน ซึ่งเมื่อหินอวกาศพุ่งชนดาวพุธนั้นได้เกิดระเบิดที่ทำให้มีเศษวัตถุมากมายพุ่งออกมาและกระทบกับผิวดาวเคราะห์อีกครั้ง
บริเวณทางเหนือของดาวพุธ ซึ่งไม่เคยมีภาพให้เห็นจากการบินผ่านของยานอวกาศเลยนั้น มีลักษณะไม่ต่างไปจากหน้าพิซซ่าหนักเครื่อง ซึ่งภาพถ่ายจากยานเมสเซนเจอร์ได้เผยให้เห็นเช่นนั้น
โซโลมอนกล่าวว่า ปกติหลุมกระแทกทุติยภูมินี้ จะกว้างประมาณ 10 กิโลเมตร แต่บางครั้งก็กว้างได้ถึง 24 กิโลเมตรเลยทีเดียว ซึ่งกว้างกว่าหลุมกระแทกทุติยภูมิบนดวงจันทร์เสียอีก
เขาอธิบายว่า อาจเป็นเพราะก้อนอุกกาบาตและดาวหางพุ่งมาด้วยความเร็วมากขึ้น เมื่อเข้าใกล้แรงดึงของดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงกระแทกดาวพุธรุนแรงกว่า ทำให้ดินบนดาวเคราะห์กระเด้งออกมาได้สูงกว่าและทำให้เกิดหลุมกระแทกทุติยะภูมิที่ใหญ่กว่า
นอกจากนี้ ดาวพุธยังต่างจากดวงจันทร์ตรงที่กำลังหดตัวและมีสนามแม่เหล็ก ซึ่งน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดหลุมที่ใหญ่กว่า และดาวพุธยังมืดมากกว่าดวงจันทร์ อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่ทารุณมากกว่า เนื่องจากผิวดาวถูกโจมตีอย่างสม่ำเสมอจากอนุภาคฝุ่นและอุกกาบาตเล็กๆ
ยานเมสเซนเจอร์ได้เข้าโคจรรอบดาวพุธตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.2011 ที่ผ่านมา และในวันแรกที่เข้าสู่วงโคจรนั้นยานอวกาศได้ส่งภาพการปฏิบัติงานครั้งแรกกลับมา 224 ภาพ และในช่วงต้นดือน เม.ย.นี้องค์การอวกาศสหรัฐฯ จะได้รับภาพดาวพุธมากกว่า 15,000 ภาพ จากยานอวกาศมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
ภาพแรกของดาวพุธที่ได้รับการบันทึกนั้น เผยให้เห็นด้านมืดและเย็นเยือกทางขั้วใต้ของดาวเคราะห์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีน้ำแข็งอยู่บริเวณนั้น แต่ภาพที่ได้ก็ไม่ใกล้พอที่จะฟันธงได้ว่าภาพถ่ายเรดาร์ที่บันทึกจากโลกนั้นคือน้ำแข็ง โดยในการบันทึกภาพขั้วของดาวเคราะห์ถูกกำหนดไว้ช่วงหลังๆ ของปฏิบัติการ
ยานเมสเซนเจอร์จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการโคจรรอบดาวพุธและเริ่มทำแผนที่ดาวเคราะห์ลำดับที่ 1 ของระบบสุริยะ และเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น ก็จะพุ่งเข้าชนกับดาวเคราะห์ดวงนี้