อุกกาบาตในทวีปแอนตาร์กติกาช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ข้อโต้เถียงว่า ชีวิตบนโลกอาจเริ่มต้นจากนอกโลก หลังนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์องค์ประกอบวัตถุจากอวกาศพบมีก๊าซแอมโมเนียจำนวนมาก
บีบีซีนิวส์รายงานว่า ก๊าซแอมโมเนียดังกล่าวมีส่วนประกอบของธาตุไนโตรเจน ที่พบในโปรตีนและดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการก่อเกิดของชีวิต โดยนักวิจัยกล่าวว่า อุกกาบาตดังกล่าวน่าจะตกลงมาห่าใหญ่ในยุคแรกเริ่มของโลก และเติมองค์ประกอบของชีวิตที่ขาดหายไป
รายละเอียดของงานวิจัยนี้ ตีพิมพ์ลงวารสารเดอะเจอร์นัลโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์ส (National Academy of Sciences) โดยเป็นผลงานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท (Arizona State University) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาครูซ (University of California, Santa Cruz)
การศึกษาล่าสุดนี้ เป็นการวิเคราะห์ผงน้อยกว่า 4 กรัม ที่สกัดมาจากอุกกาบาตชื่อ “เกรฟนูนาแทกส์ 95229” (Grave Nunataks 95229) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้ง ตามสถานที่ที่อุกกาบาตตกในทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อปี 1995 ซึ่งได้ผลว่า ผงตัวอย่างนั้นอุดมไปด้วยแอมโมเนียกับองค์ประกอบไฮโดรคาร์บอนพอๆ กัน
ศ.แซนดรา พิซซาเรลโล (Prof.Sandra Pizzarello) ผู้เป็นหัวหน้าคณะในการทำวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า งานวิจัยนี้แสดงว่ามีดาวเคราะห์อยู่นอกโลก ซึ่งเมื่อแตกออกกลายเป็นสะเก็ดดาวก็มีโอกาสที่พุ่งใส่โลก พร้อมกับองค์ประกอบหลายชนิดที่ถูกดึงดูดมาด้วย ในที่นี้รวมถึงแอมโมเนียปริมาณมากด้วย และอุกกาบาตแบบนี้อาจจะทำให้โลกในยุคแรกเริ่มมีไนโตรเจนมากพอที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นมาได้
การศึกษาก่อนหน้านี้ ให้ความสนใจกับอุกกาบาต “มัวร์ชิสัน” (Murchison) ซึ่งตกในออสเตรเลียเมื่อปี 1969 และพบว่าเต็มไปด้วยองค์ประกอบอินทรีย์ แต่ ศ.พิซซาเรลโล กล่าวว่าอุกกาบาตมัวร์ชิสันนั้น “มีของดีมากเกินไป” และยังมีองค์ประกอบโมเลกุลไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเราคาดหวังที่จะได้เห็นในตอนท้ายมากกว่าตอนต้นของการกำเนิดชีวิต และเธอยังเชื่ออีกว่า การจัดวางองค์ประกอบเหล่านี้ ซับซ้อนเกินไปและรูปร่างโมเลกุลเป็นแบบสุ่มมากกว่าที่จะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตบนโลก
ทฤษฎีว่าโลกของเราน่าจะถูกหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตจากดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยนั้นเกิดขึ้นความเชื่อว่า โลกในยุคแรกอาจจะไม่มีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการเกิดโมเลกุลพื้นฐานที่จำเป็นต่อกระบวนการที่นำไปสู่การเกิดชีวิตในยุคแรกเริ่มได้
แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกว่ากระบวนการก่อเกิดชีวิตน่าจะเริ่มขึ้นในแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไกลออกไปจากความร้อนและความดันของดาวเคราะห์ที่กำลังก่อตัว และการชนกันระหว่างดาวเคราะห์น้อยภายในแถบดังกล่าวทำให้เกิดสะเก็ดดาวที่พุ่งไปรอบๆ ระบบสุริยะ และสามารถที่จะนำวัตถุในการก่อเกิดชีวิตมายังโลกได้
ด้าน ดร.คาโรไลน์ สมิธ (Dr.Caroline Smith) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาวตกจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในลอนดอน เห็นด้วยว่าธาตุที่สำคัญในการศึกษาล่าสุดนี้คือไนโตรเจน แต่เธอก็อยากเห็นผลการทดลองอย่างเดียวกันนี้ในอุกกาบาตดวงอื่นๆ
“หนึ่งในปัญหาของชีววิทยาแรกเริ่มในยุคต้นๆ ของโลกคือ เราต้องการไนโตรเจนจำนวนมากเพื่อทำให้เกิดกระบวนการก่อเกิดสิ่งมีชีวิต และแน่นอนว่าไนโตรเจนนั้นอยู่ในแอมโมเนีย หลักฐานจำนวนแสดงให้เห็นว่า โลกในยุคแรกเริ่มไม่มีแอมโมเนียอยู่มากมายนัก ดังนั้น โมเลกุลเหล่านี้มาจากไหน” ดร.สมิธตั้งคำถาม
สิ่งที่เป็นต้นเหตุเฉพาะให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลกนั้นยังคงเป็นเรื่องลึกลับ โดย ศ.พิซซาเรลโล ได้สันนิษฐานว่า วัสดุจากอุกกาบาตอาจทำอันตรกริยากับสิ่งแวดล้อมบนโลก อย่างภูเขาไฟหรือแอ่งน้ำขึ้นน้ำลง (tidal pools) แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงการคาดเดา ซึ่งเราบอกได้เพียงว่าสิ่งแวดล้อมในอวกาศระหว่างดวงดาวนั้นอาจมีองค์ประกอบที่เหมาะสมสำหรับชีวิตแรกเริ่มบนโลก