xs
xsm
sm
md
lg

พบโลกมี “โทรจัน” ใช้วงโคจรร่วมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจำลองการค้นพบ โทรจัน หรือ ดาวเคราะห์น้อยทรอย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนำหน้าโลกในระยะ 80 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์ระบุว่าในช่วง 100 ปีข้างหน้าโทรจัน 2010 ทีเค 7 นี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตรอย่างแน่นอน ในภาพแสดงวงโคจรของโทรจันด้วยเส้นสีเขียว ส่วนวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์แทนด้วยจุดสีน้ำเงิน (เอเอฟพี)
นักดาราศาสตร์พบโลกมี “โทรจัน” ร่วมอยู่ในวงโคจร ขนาด 300 เมตรอยู่ตำแหน่งนำหน้าดาวเคราะห์ของเรา ก่อนหน้านี้เชื่อว่ามีแต่ไม่เคยเห็นเนื่องจากพบได้ยากในช่วงเวลากลางวัน ชี้วงโคจรดาวเคราะห์น้อยนี้มั่นคงไปอย่างน้อย 1,000 ปี ภายในศตวรรษนี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตร

แม้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 300 เมตรแต่วัตถุในอวกาศที่เพิ่งค้นพบนี้ถูกเรียกว่า “โทรจัน” (Trojan) หรือ “ดาวเคราะห์น้อยทรอย” เพราะอยู่ในตำแหน่งนำหน้าหรือตามหลังดาวเคราะห์ ซึ่งการอยู่ในวงโคจรเดียวกันนี้ทำให้ดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยประเภทนี้ไม่ชนกัน โดยเอเอฟพีระบุว่านักดาราศาสตร์ได้รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสารเนเจอร์ (Nature)

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer: WISE) ศึกษาข้อมุลและพบดาวเคราะห์น้อยทรอยที่ใช้วงโคจรร่วมกับโลกนั้นอยู่ห่างจากโลกในตำแหน่งนำหน้า 80 ล้านกิโลเมตร

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์คิดมานานแล้วว่าโลกนั้นมีดาวเคราะห์น้อยทรอยร่วมวงโคจรอยู่ แต่พวกเขาพิสูจน์ได้ลำบากเพราะเป็นเรื่องยากที่จะพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวในช่วงกลางวัน แต่มาร์ติน คอนนอร์ส (Martin Connors) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาธาบาสกา (Athabasca University) แคนาดา หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่ากล้องไวส์ช่วยให้เราเห็นมุมมองที่เห็นได้ยากจากพื้นโลก

ข้อมูลจากบีบีซีนิวส์ระบุว่าคอนนอร์สและทีมได้กวาดดูข้อมูลบนท้องฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.2010-ก.พ.2011 โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในความร่วมมือของแคนาดา-ฝรั่งเศสและฮาวายใน มัวนา เคีย ฮาวาย เพื่อค้นหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยทรอย
และยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้

ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเดียวกับเราอย่างดาวพฤหัสบดี ดาวอังคารและดาวเนปจูน ต่างก็มีดาวเคราะห์ทรอยอยู่ร่วมวงโคจร รวมถึงดวงจันทร์ของดาวเสาร์ซึ่งมีดาวเคราะห์น้อยทรอยร่วมวงโคจรถึง 2 ดวง ส่วนดาวเคราะห์น้อยทรอยของเรานั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า 2010 ทีเค7 (2010 TK7) และนักดาราศาสตร์สนใจโทรจันของโลกดวงนี้เพราะมีวงโคจรต่างไปจากโทรจันดวงอื่น

ข้อมูลต่อไปนี้ช่วยให้ผู้ที่กังวลว่าดาวเคราะห์น้อยทรอยจะพุ่งชนโลกได้สบายใจขึ้น โดยคอนนอร์สกล่าวว่า ดาวเคราะห์น้อยทรอยที่เพิ่งค้นพบนี้มีวงโคจรที่เสถียรไปอย่างน้อย 1,000 ปี ส่วนนาซาเสริมว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตรในอีก 100 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น