xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวให้โลกรู้จักดาราศาสตร์ไทย เปิดงาน APRIM2011

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีการประชุม APRIM2011 ซึ่งมีนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก 500 คนเข้าร่วม
เปิดประชุมดาราศาสตร์ระดับเอเชีย-แปซิฟิก นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกว่า 500 ชีวิตพาเหรดร่วมงาน ชี้เป็นการเปิดตัวให้ทั่วโลกได้รู้จักดาราศาสตร์ไทยมากขึ้น ด้าน ผอ.สดร.ระบุสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติอยากเห็นทั่วโลกมีความเข้มแข็งทางด้านดาราศาสตร์ จึงให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในภูมิภาคที่เป็น “จุดอ่อน” ของวงการ

เปิดประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM2011) ในเช้าวันที่ 26 ก.ค.54 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ โดยมี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.54 โดยมีนักดาราศาสตร์กว่า 500 คน จาก 34 ประเทศเข้าร่วม และยังเป็นครั้งแรกของไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุมสำหรับนักดาราศาสตร์ทั่วโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การจัดงานประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวให้โลกได้รู้จักดาราศาสตร์ของไทย โดยเหตุผลที่ไทยได้รับเกียรติให้จัดงานครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานระดับสากล แต่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถือ “จุดอ่อน” ทางด้านดาราศาสตร์ระดับโลก

“เป้าหมายของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union: IAU) คือต้องการเห็นความเข้มแข็งด้านดาราศาสตร์ทั้งโลก ซึ่งหากไทยเข้มแข็งก็จะฉุดให้ประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้มีความเข้มแข็งทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มขึ้นด้วย ไทยถือว่ามีความพร้อมที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ประชาชนและเยาวชนก็ให้ความสำคัญกับดาราศาสตร์มาก รัฐจึงให้การสนับสนุนมากขึ้น นอกจากหอดูดาวแห่งชาติที่กำลังจะเสร็จแล้ว ยังมีหอดูดาวภูมิภาคอีก 5 แห่งที่กำลังจะสร้างขึ้นเพื่อบริการประชาชน” รศ.บุญรักษากล่าว

รศ.บุญรักษากล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดตัวให้วงการดาราศาสตร์โลกได้รู้จักไทยมากขึ้น ซึ่งหลังจากไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกไอเอยูแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จัก สดร. และหลังจากสัมมนาวิชาการเป็นเวลา 3 วันแล้ว นักดาราศาสตร์ที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้จะได้เดินทางไปดูความคืบหน้าในการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติของไทย ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ สถานีทวนสัญญาณทีโอที กม.44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรด้วย

ทั้งนี้ ไทยมีนักดาราศาสตร์ทั่วประเทศประมาณ 30 คน โดยมีนักดาราศาสตร์ที่ทำวิจัยใน สดร.2-3 คน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รศ.บุญรักษาระบุว่า ไทยมีความพร้อมแล้ว แต่ยังต้องการกำลังคนที่จะมาสร้างผลงานจากการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่าภายในการประชุมครั้งนี้ จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างหอดูดาวเอสเคเอ (Square Kilometre Array: SKA) โครงการติดตั้งหอดูดาววิทยุหลายๆ ตัวในพื้นที่หลายกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดและมีความละเอียดที่สุดในโลก อีกทั้งยังจะมีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์วิทยุในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเลือกพื้นที่ในการก่อสร้าง แต่หลายประเทศสนใจเสนอเป็นสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวดังกล่าว ส่วนไทยไม่มีพื้นที่มากพอที่จะเสนอตัวในโครงการนี้

“สำหรับหอดูดาวบนพื้นโลกอาจเทียบศักยภาพของหอดูดาวอวกาศไม่ได้ เพราะหอดูดาวอวกาศสามารถถ่ายภาพได้คมชัดกว่าเนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศรบกวนการถ่ายภาพ แต่หอดูดาวบนพื้นโลกยังมีความสำคัญ อย่างแรกคือใช้การลงทุนน้อยกว่า และอีกอย่างคือหอดูดาวภาคพื้นสามารถทำงานสนับสนุนการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศได้” รศ.บุญรักษากล่าว

เมื่อเปรียบกับภูมิภาคอื่น รศ.บุญรักษากล่าวว่า แอฟริกาและอเมริกาใต้อยู่ในพื้นที่ดีและเหมาะสมต่อการก่อสร้างหอดูดาว เพราะมีทะเลทรายที่ไม่มีต้นไม้บดบัง และฟ้าเปิดให้ดูดาวได้ปีละ 350 วัน ทำให้ดาราศาสตร์ในภูมิภาคเหล่านี้ก้าวหน้าเพราะประเทศร่ำรวยไปลงทุนสร้างหอดูดาว ส่วนไทยมีช่วงเวลาที่ดูดาวได้ 6-7 เดือน

นอกจากนี้ภายในการประชุมยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ในสาขาต่างๆ รวม 9 สาขา อาทิ ดาวเคราะห์ในและนอกระบบสุริยะ วิวัฒนาการของกาแลกซี การกำเนิดทางช้างเผือก เอกภพวิทยา การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น และยังมีเวทีเปิดกว้างให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ฟังบรรยายพิเศษจากนักดาราศาสตร์ระดับโลก เช่น การบรรยายเกี่ยวกับวันสิ้นโลกในปี 2012 โดย ศ.โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ (Jocelyn Bell Burnell) นักดาราศาสตร์หญิงจากสหราชอาณาจักร ผู้พบสัญญาณวิทยุจากดาวนิวตรอนหรือ “พัลซาร์” (Pulsar) เป็นต้น

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีนักดาราศาสตร์ที่มีผลงานระดับโลกเข้าร่วมประชุมอีกมาก อาทิ คริสโตเฟอร์ โก (Christopher Go) ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่ค้นพบจุดแดงน้อยบนดาวพฤหัสบดี และได้รับเชิญจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เพื่อร่วมศึกษาดาวพฤหัสฯ ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ซึ่งภายในการประชุมนี้เขาได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษในเวทีที่จัดขึ้นเพื่อสาธารณชนทั่วไป วันที่ 27 ก.ค.54 เวลา 16.00-17.00 น.

การประชุมของนักดาราศาสตร์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับภูมิภาคของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (Regional IAU Meetings:RIMS) ที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยยังมีการประชุมระดับเดียวกันนี้ในอีก 2 ภูมิภาค คือ ภาคพื้นลาตินอเมริกาและภาคพื้นตะวันออกกลางและแอฟริกา ส่วนการประชุมระดับโลกจัดขึ้นทุก 3 ปีเช่นกัน โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2012
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น