xs
xsm
sm
md
lg

ถอดมุมมองผู้พบ “พัลซาร์” จริงหรือโลกดับ 2012 ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความเชื่อเรื่องโลกพบจุดจบในปี 2012 แพร่ระบาดในอินเทอร์เน็ต
จริงหรือโลกดับในปี 2012? จากมุมมอง “โจเซลิน เบล เบอร์เนล” นักดาราศาสตร์หญิงจากอังกฤษผู้พบ “พัลซาร์” ยกปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามาวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ตั้งแต่ดวงอาทิตย์กลับขั้วแม่เหล็ก พายุสุริยะ สนามแม่เหล็กโลกกลับทิศทาง การเรียงตัวของดาวเคราะห์ ความเชื่อเรื่องดาวนิบิรุและดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก รวมถึงโลกถูกดูดเข้าสู่หลุ่มดำใจกลางกาแลกซี

ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงโจเซลิน เบล เบอร์เนล (Dame Jocelyn Bell Burnell) คือ นักดาราศาสตร์วิทยุจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) สหราชอาณาจักร ผู้พบสัญญาณ “พัลซาร์” (Pulsar) หรือ “ดาวนิวตรอน” ที่แผ่คลื่นวิทยุออกมาเป็นห้วงตามอัตราการที่ดาวหมุนรอบตัวเอง คล้ายๆ กับการส่องแสงของประภาคารเมื่อปี ค.ศ.1967 ขณะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge)

ศาสตราจารย์เบอร์เนลได้ใช้เสารับสัญญาณวิทยุศึกษาปรากฏการณ์ดาราศาสตร์และได้พบสัญญาณพัลซาร์ ซึ่งเบื้องต้นเธอเข้าใจว่าเครื่องมือขัดข้อง แต่เมื่อพบสัญญาณเดียวกันจากอีกแหล่งกำเนิดทำให้เธอแน่ใจว่าเครื่องมือไม่ได้มีปัญหา และการค้นพบครั้งนั้นยังทำให้ ศ.แอนโทนี ฮิวอิช (Prof.Antony Hewish) อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอในขณะนั้น และ ศ.มาร์ติน ไรล์ (Prof.Martin Ryle) ได้รับรางวัลโนเบล

ปัจจุบัน ศ.เบอร์เนลล์ไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับพัลซาร์แล้ว แต่ยังคงติดตามการศึกษาเรื่องนี้อยู่ และนอกจากเป็นนักดาราศาสตร์แล้ว เธอยังเดินสายบรรยายพิเศษเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านดาราศาสตร์ไปทั่วโลกปีละ 30-40 ครั้ง หากแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเธอได้รับคำถามถี่ๆ ว่า “จริงหรือไม่? โลกจะถึงกาลอวสานในปี 2012” จึงเป็นแรงผลักให้เธอตัดสินใจเผยแพร่ข้อมูลที่จะช่วยระงับความตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์วันสิ้นโลก ซึ่งมีแรงกระตุ้นมาจากภาพยนต์ดัง

ล่าสุดเธอได้เดินทางมาบรรยายในมุมมองดาราศาสตร์ต่อกระแสตื่นกลัววันสิ้นโลกในปี 2012 ภายในการประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM2011) ซึ่งจักขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.ค.54 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังการบรรยายดังกล่าวด้วย

กระแสวันสิ้นโลกในปีหน้านั้นเริ่มจากการนำเสนอว่าปฏิทินรอบยาว (Long Count) ของชาวมายาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ธ.ค.2012 ซึ่งมีหลายปรากฏการณ์ที่ถูกดึงมาสนับสนุนวาระสุดท้ายของโลก ทั้งปรากฏการณ์แผ่นดินไหว พายุ ภูเขาไฟระเบิด แต่ในฐานะนักดาราศาสตร์ ศ.เบอร์เนลล์ ได้ยกประเด็นด้านดาราศาสตร์ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุของหายนะทำลายล้างโลก

ดวงอาทิตย์ส่งผลทำลายล้างโลก (จริงหรือ?)
มีความกังวลว่าการกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดพายุสุริยะที่รุนแรง แต่ข้อเท็จจริงคือดวงอาทิตย์มีการกลับขั้วแม่เหล็กทุกๆ 11 ปี โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2021 ไม่ใช่ปี 2012 นอกจากนี้เรายังไม่พบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์ ส่วน “จุดมืด” (Sunspot) ที่กังวลว่าจะส่งผลต่อการเกิดพายุรุนแรงนั้น จากข้อมูลที่มีการศึกษาวัฏจักรดวงอาทิตย์พบว่า ในบางวัฏจักรที่มีจุดมืดเยอะนั้นไม่ได้เกิดพายุสุริยะมากตามไปด้วย

จุดมืดนี้มาและไปทุกๆ 11 ปี ที่บริเวณดังกล่าวจะเย็นกว่าบริเวณอื่นบนดวงอาทิตย์เล็กน้อย และเมื่อเทียบขนาดกับโลกจุดดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่า คุณอาจคาดไว้ว่าเมื่อมีจุดมืดมากก็จะมีพายุสุริยะมากด้วย แต่จริงๆ แล้วทั้งสองปรากฏการณ์ไม่ได้สัมพันธ์กัน สำหรับปริมาณจุดมืดมากสุดบนดวงอาทิตย์จะเกิดขึ้นราวปลายปี 2013 ไม่ใช่ปี 2012 คาดว่ามีพายุสุริยะน้อยกว่าที่ผ่านมา และผลกระทบอาจทำให้มือถือและดาวเทียมทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เมื่อถึงวันนั้นจำไว้ว่าคุณต้องหาวิธีเดินทางได้โดยไม่พึ่งจีพีเอส” ศ.เบอร์เนลล์กล่าว

สนามแม่เหล็กกลับทิศโลกปั่นป่วน?
“สนามแม่เหล็กโลกกลับทิศอยู่ตลอดเวลาโดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 750,000 ปีก่อน ขณะที่มนุษย์ที่เริ่มรู้จักใช้เครื่องมือเกิดขึ้นบนโลกเมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน จากเวลาดังกล่าวมาถึงทุกวันนี้มีการกลับทิศสนามแม่เหล็กแล้ว 11 ครั้ง และเราก็ยังคงอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และคล้ายว่าเมื่อสนามแม่เหล็กโลกกลับทิศจะพบว่าสนามแม่เหล็กอ่อนเล็กน้อยก่อนการกลับทิศ” นักดาราศาสตร์หญิงจากออกซ์ฟอร์ดกล่าว

ทั้งนี้ การกลับทิศของสนามแหล็กใช้เวลาถึง 5,000 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยเริ่มจากสนามแม่เหล็กอ่อนลงอย่างช้าๆ และปัจจุบันสนามแม่เหล็กกำลังอ่อนลงปีละ 5% ซึ่งอาจถึงเรากำลังเข้าสู่ช่วงการกลับทิศสนามแม่เหล็กใหม่ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของโลก

หายนะจากดาวเคราะห์-ดาวนิบิรุ?
ในปี 2012 ไม่มีการเรียงตัวของดาวเคราะห์แต่อย่างใด และแม้จะมีการเรียงตัวของดาวเคราะห์ก็ไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อแรงดึงดูดหรือแรงน้ำขึ้นน้ำลงบนโลก หากทำแผนภูมิวงกลมแสดงอิทธิพลของดึงดูดที่กระทำต่อโลกจะพบว่าดวงอาทิตย์มีอิทธิพลมากที่สุด และดวงจันทร์มีผลกระทบรองลงมา ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ส่งผลกระทบน้อยมากจนไม่มองเห็นผลที่แสดงบนแผนภูมิ ส่วนแรงน้ำขึ้นน้ำลงนั้นดวงจันทร์ส่งอิทธิพลมากสุดตามมาด้วยดวงอาทิตย์

ในอดีตเคยมีการเรียงตัวของดาวเคราะห์ 5 ดวง คือเมื่อเดือน ก.พ.1962 และ เดือน พ.ค.2000 พร้อมกันนี้ ศ.เบอร์เนลล์ยังยกตัวอย่างการเรียงตัวของดาวเคราะห์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2008 ซึ่งปรากฏดวงจันทร์ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเรียงกันบนฟ้า กลายเป็นภาพ “พระจันทร์ยิ้ม” ที่หลายคนประทับใจ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ดาวนิบิรุ” (Nibiru) ที่เล่ากันว่าชาวสุเมเรียนสังเกตพบดาวเคราะห์ดังกล่าวเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล และพบว่าคาบโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้คือ 3,600 ปี โดยมีวงโคจรที่เป็นวงรีค่อนข้างมาก ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้จะชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค.2012

ทั้งนี้ ชาวสุเมเรียนเห็นดาวนิบิรุด้วยตาเปล่าจากการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ เพราะยุคนั้นยังไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการศึกษาวัตถุบนท้องฟ้า แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้มีระยะไกลกว่าดาวพลูโต 10 เท่า ในขณะที่เราไม่สามารถมองเห็นดาวพลูโตได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวสุเมเรียนจะมองเห็นดาวดวงนี้

อีกทั้งเรื่องเล่ายังบอกอีกว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างออกไป 400 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งระยะ 1 หน่วยดาราศาสตร์คือระยะระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์หรือ 150 ล้านกิโลเมตร หากเรามองดาวเคราะห์ที่ระยะดังกล่าวด้วยแสงสะท้อน จะต้องมีดวงอาทิตย์มากถึง 150 ดวง

“ดังนั้น มันไม่ใช่ดาวเคราะห์ แล้วเป็นดาวแคระน้ำตาล (Brown Dwarf) ได้ไหม? ถ้าเรามองเห็นดาวดวงนั้นที่ระยะ 400 หน่วยดาราศาสตร์ได้ แสดงว่ามันต้องเป็นดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ที่สว่างมากๆ และคนบอกว่าตอนนี้ดาวนิบิรุอยู่ห่างออกไป 7 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งหากเราเคยเห็นมันที่ระยะไกลกว่านี้ ตอนนี้ดาวนิบิรุต้องสว่างมากพอๆ กับดวงจันทร์และมองเห็นได้ตาเปล่าในตอนกลางวัน แต่ไม่มีใครเห็น ดังนั้น มันไม่มีจริง เป็นแค่เรื่องแต่ง” ศ.เบอร์เนลล์สรุปว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นจริง

สูญพันธุ์เมื่อ “ดาวเคราะห์น้อย” พุ่งชนโลก?
อุกกาบาตผ่านสู่ชั้นบรรยากาศโลกทุกวัน บางครั้งทำให้เกิดดาวตกลูกไฟ (fireball) บางครั้งทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่และเมื่อ 65 ล้านปีก่อนดาวเคราะห์น้อยขนาด 100 กิโลเมตร พุ่งชนโลกซึ่งทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub) ในเม็กซิโก และเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ จึงมีโครงการเฝ้าระวังทางอวกาศเพื่อเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนมาเข้าใกล้โลก

ศ.เบอร์เนลล์กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเฝ้าจับตาวัตถุขนาดใหญ่กว่า 200 เมตรประมาณ 1,000 วัตถุที่เคลื่อนมาเข้าใกล้โลกในระยะ 20 เท่าของระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งหากจะมีอะไรพุ่งชนโลกในเดือน ธ.ค.2012 ตอนนี้เราต้องทราบข้อมูลนั้นแล้ว แต่เรายังไม่พบว่าจะมีการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย และหากทราบว่ามีเราจะเตรียมรับมือด้วยการหาทางเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้น แต่ไม่ใช่การระเบิดทิ้งเพราะจะทำให้เกิดวัตถุอีกหลายพันชิ้นให้เฝ้าจับตาดู

ฤๅโลกจะถูก “หลุมดำ” กลืนกิน?
ในกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเรานั้นมี “หลุมดำ” อยู่ใจกลางเหมือนกาแลกซีอื่นๆ ในเอกภพ แต่เรามองไม่เห็นรูปร่างของมัน ทั้งนี้ หลุมดำใจกลางกาแลกซีของเรานั้นอยู่ไกลออกไป 26,000 ปีแสง นั่นหมายความว่าหากโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสงยังต้องใช้เวลาถึง 26,000 ปีจึงจะไปถึงหลุมดำ ซึ่ง ศ.เบอร์เนลล์กล่าวอย่างมั่นใจว่าเราจะไม่ถูกดูดเข้าไปในหลุมดำอย่างแน่นอน

สำหรับจุดจบของโลกในมุมมองนักดาราศาสตร์ผู้พบพัลซาร์คือการที่เราไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ และท้ายที่สุดแล้วโลกก็จะพบจุดจบไปก่อนวาระสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่เป็นไปตามวัฏจักเกิด-ดับของดวงดาวในอีก 5 พันล้านปี นอกจากนี้ในอีก 3 พันล้านปีกาแลกซีของเราจะชนกับกาแลกซีแอนโดรมีดา (Andromeda) ซึ่งเราคงมีโอกาสรอดหากเราหาที่อยู่ใหม่ได้
ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงโจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์
ระหว่างศาสตราจารย์เบอร์เนลล์บรรยายพิเศษในการประชุมดาราศาสตร์ที่ จ.เชียงใหม่
ตัวอย่างพัลซาร์ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (hubblesite.org)
กำลังโหลดความคิดเห็น