เดินหน้าโครงการ “ยุวทูตดาราศาสตร์” ปี 2 เฟ้นหาเยาวชนไทยกล้าแสดงและสนใจศาสตร์ทางด้านดวงดาว เตรียมพาลัดฟ้าไปชมหอดูดาวที่เกาหลี พร้อมขยายโอกาสสู่เด็กประถมเปิดโครงการ “แอสโตรคิดส์” คัดเด็กเล็กร่วมแสดงสารดคีสั้นดาราศาสตร์ร่วมกับ “ศิลปินเอเอฟ”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ร่วมกับสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย จัดประกวดยุวทูตดาราศาสตร์ เป็นปีที่ 2 ภายใต้โครงการเปิดโลกทัศน์ด้านดาราศาสตร์ให้แก่เด็กไทย โดยการคัดเลือกผู้แทนเยาวชนจากนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่ง ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นยุวทูตดาราศาสตร์ประจำปี 2554 จะได้เดินทางไปเปิดโลกทัศน์ด้านดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในเดือน ก.ย.นี้
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ถือว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งจากการประกวดยุวทูตดาราศาสตร์ ร้อยดาวร้อยใจ ไทย-จีน เมื่อปี 2553 ได้นำยุวทูตดาราศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือก ไปศึกษาดูงานที่จีน และจากความสำเร็จดังกล่าวจึงคิดว่าปีนี้น่าจะทำโครงการนี้ต่อ โดยมีขอบเขตที่กว้างขึ้น แบ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
“ปีต่อๆ ไปคิดว่าน่าจะจัดแบบนี้ทุกปี และปีหน้าจะจัดให้ดีขึ้น น้องๆ ที่เข้ามาประกวดจะได้ความรู้นอกห้องเรียน ได้แตะต้องของจริง และยุวทูตดาราศาสตร์จะได้ประโยชน์จริง คือได้นำองค์ความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม” ดร.วีระชัยกล่าว
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงโครงการที่ขยายสู่ระดับประถมว่า โครงการดังกล่าวคือโครงการยุวทูตดาราศาสตร์รุ่นเยาว์หรือ แอสโตรคิดส์ (Astro Kids) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับเด็กอายุ 6-10 ปี และจะเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกในโครงการระดับประถม จะได้ร่วมแสดงสารคดีสั้นทางดาราศาสตร์กับ ณัฐ ศักดาทร หรือ “นัท เอเอฟ 4”
ส่วนเหตุผลในการเลือกเดินทางไปเกาหลีใต้ในโครงการยุวทูตดาราศาสตร์ในระดับมัธยมนั้น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชี้แจงว่าทาง สดร.มีความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับหลายประเทศในเอเชีย สำหรับเกาหลีนั้นมีการพัฒนาดาราศาสตร์ดีกว่าไทยหลายสิบปี และเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์เป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออก รองจากจีนและญี่ปุ่น
อีกทั้ง ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นยุวทูตดาราศาสตร์ในระดับมัธยม จะได้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (Korea Astronomy and Space Science Institute) หรือ คาไซ (KASI) ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ระดับประเทศ และยังมีเครือข่ายหอดูดาวอีกมาก โดยสถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแทจอน ซึ่งเป็นเมืองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ พร้อมเยี่ยมชมการทำงานของนักดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวโบฮยูนซัน (Bohyunsan) ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร
นอกจากนี้ยุวทูตดาราศาสตร์จะได้เยี่ยมชม หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแทดุค (Taeduk) ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 14 เมตร ห้องควบคุมการทำงานระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวเมานต์เลมมอนมหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐฯ เยี่ยมศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์นานาชาติ ท้องฟ้าจำลอง อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี และหอดูดาวชอมซองแตซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของเกาหลีในสมัยมหาราชินีซอนต็อก
นัคเรศ อินทนะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนจักรคำคณาธร จ.ลำพูน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ยุวทูตดาราศาสตร์ประจำปี 2553 กล่าวถึงความประทับใจในการเป็นตัวแทนเยาวชนและได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาทางด้านดาราศาสตร์ที่จีนว่า นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้แรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นเหมือนเชื้อเพลิงให้เราไปถึงจุดหมาย และในฐานะยุวทูตดาราศาสตร์ยังมีกิจกรรมตลอดทั้งปีในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่กำลังเปิดกว้างขึ้นจากเดิม
ส่วน นัท เอเอฟ 4 ในฐานะพรีเซนเตอร์โครงการยุวทูตดาราศาสตร์รุ่นเยาว์และจะร่วมแสดงสารคดีสั้นทางดาราศาสตร์กับตัวแทนเยาวชนที่ได้รับคัดเลือก กล่าวถึงดาราศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่สนุก และเป็นศาสตร์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการยุวทูตดาราศาสตร์ทั้ง 2 ระดับ กติกามีดังนี้
- ยุวทูตดาราศาสตร์ 2554
เยาวชนที่เข้าประกวดต้องส่งผลงานออกแบบ แนวคิด การประดิษฐ์ชิ้นงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นงานได้จริง โดยส่งผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอเพื่อแสดงแนวคิดและการใช้งานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว ซึ่งในการนำเสนอนั้นผลงานดังกล่าวอาจเป็นชิ้นงานที่ประดิษฐ์สำเร็จแล้วหรือเป็นภาพร่างโครงการก็ได้ แต่ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการเข้าในด้วยความยาวของคลิปวิดีโอไม่เกิน 3 นาที
ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.narit.or.th แล้วส่งใบสมัครมาพร้อมคลิปวิดีโอที่บันทึกลงแผ่นซีดี ไปที่ โครงการยุวทูตดาราศาสตร์ปี 2554 ตู้ ปณ.15 ปท.บางเขน กรุงเทพฯ 10220 หลังจากนั้นให้แจ้งยืนยันการสมัครทาง E-mail: darasart2korea@yahoo.com ภายในวันที่ 30 พ.ค.54 (ถือเอาตราประทับไปรณีย์เป็นสำคัญ)
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือติดต่อประสานงาน E-mail: darasart2korea@yahoo.com หรือ โทร. 08-6789-1689
-ยุวทูตดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ (Astro Kids)
วาดภาพพร้อมระบายสีในหัวข้อ “ดาราศาสตร์ของหนู” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์และตัวผู้ประกวดเอง ลงบนกระดาษขนาดไม่เกิน A4 โดยไม่จำกัดเทคนิคการวาดและเทคนิคการใช้สี พร้อมเขียนคำบรรยายบอกเหตุผล ที่มา แรงบันดาลใจ สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารจากภาพที่วาด ด้วยความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 แล้วส่งพร้อมใบสมัครซึ่งดาวน์โหลดที่ www.narit.or.th ไปยัง โครงการประกวด Astro Kids 88/49 รามอินทรา ซ.5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220 หรือสแกนส่งทาง E-mail: darasart4kid@yahoo.com ภายในวันที่ 20 มิ.ย.54
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือติดต่อประสานงาน E-mail: darasart4kid@yahoo.com หรือ โทร. 08-6789-1689