เด็กเชียงรายใช้เลเซอร์เป็นสื่อการเรียนรู้สร้างกลุ่มดาวคว้าตำแหน่ง “ยุวทูตดาราศาสตร์” ปีล่าสุด เตรียมลัดฟ้าไปหาประสบการณ์ดาราศาสตร์ที่เกาหลีใต้พร้อมรองชนะเลิศอีก 2 คน ด้านตัวแทนยุวทูตรุ่นแรกเผยประสบการณ์ 1 ปีที่ผ่านมาได้สร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญยิ่งกว่าความรู้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. และสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย เฟ้นหา “ยุวทูตดาราศาสตร์” ภายใต้โครงการเปิดโลกทัศน์ด้านดาราศาสตร์ให้แก่เด็กไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมติดตามการคัดเลือกตัวแทนประจำปี 2554 ในรอบสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ส.ค.54 ภายในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำ 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ทั้งนี้ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 7 คน ได้แก่ 1.นายอำพันเทพ ธารวณิชย์การ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ 2.นายนฤเทพ สุกุลธนาคาร ร.ร.เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ไทย-เยอรมัน กรุงเทพฯ 3.น.ส.ฐิติกานต์ ฉุยฉาย ร.ร.สวรรค์อนันต์วิทยา จ.สุโขทัย 4.นายจอมพจน์ วงศ์เพชรอักษร ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 5.นายพลเดช อนันชัย ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เชียงราย 6.ด.ญ.อันนา ฐิตะฐาน ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 และ 7.นายประพันธ์พงศ์ คำส่งแสง ร.ร.ดรุณสิกขาลัย กรุงเทพฯ
ในรอบชิงชนะเลิศผู้เข้าแข่งขันเป็นตัวแทนยุวทูตดาราศาสตร์ต้องนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์สื่อการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ใช้งานได้จริงต่อหน้าคณะกรรมการคนละ 5 นาที ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ดังกล่าวสำหรับใช้ในการประกวดด้วยจำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท
นายพลเดช ขึ้นเวทีนำเสนอ “เลเซอร์สตาร์” (Laser Star) อุปกรณ์จำลองกลุ่มดาวด้วยเลเซอร์เพื่อเป็นสื่อเรียนดาราศาสตร์อย่างสนุก โดยประยุกต์ใช้เลเซอร์ชี้ดาว (Laser Pointer) เป็นอุปกรณ์สร้างกลุ่มดาวจำลอง ซึ่งเขาได้ตอบคำถามกรรมการว่า เลือกใช้แสงเลเซอร์เพราะมีความเข้มสูงและสามารถใช้งานในที่มีสว่างได้ดีกว่าใช้กระบอกไฟฉาย
ถัดมาคือนายประพันธ์พงศ์ซึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์สื่อความรู้เรื่องดาวหาง ด้วยอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยดวงอาทิตย์จำลองซึ่งมีควันพวยพุ่งจากน้ำแข็งแห้งแทนพลาสมา และดาวหางจำลองที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทั้งนี้เขาเคยได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์เหลือใช้มาก่อนด้วย
จากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานของ น.ส.ฐิติกานต์ จากสุโขทัย ซึ่งนำหนังสือป๊อป-อัพให้ความรู้เรื่องระบบสุริยะมาแสดง โดยเธอยืนยันกับกรรมการว่าสื่อการเรียนรู้ของเธอจะดึงความสนใจจากเยาวชนในปัจจุบันที่อยู่ในยุคของสื่อใหม่ (New Media) อย่างอุปกรณ์ไอที เช่น แท็บแล็ต และแอพพลิเคชันต่างๆ ได้
ด้านนายอำพันเทพนำทรงกลมท้องฟ้า 3 มิติมานำเสนอ โดยเขาเผยถึงแรงบันดาลใจว่าทำสื่อการสอนนี้เพราะเคยเรียนทรงท้องฟ้าแล้วไม่ค่อยเข้าใจเพราะอาจารย์ใช้ภาพ 2 มิติในการสอน ส่วน ด.ญ.อันนา น้องเล็กสุดในเวทีประกวดนำความสดใสพร้อมสื่อการสอนเรื่องดาวพลูโตมาเสนอ แต่ได้รับความเห็นจากกรรมการว่าสัดส่วนของดาวเคราะห์จำลองควรสอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย
มาถึงนายจอมพจน์ที่นำสื่อแสดงความสำคัญของภาพถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรด โดยใช้กล้องเว็บแคม และเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายในย่านแสงปกติกับภาพในย่านรังสีอินฟราเรด พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาพถ่ายย่านอินฟราเรดที่มีต่อการศึกษาของวงการดาราศาสตร์ และนายนฤเทพที่มาพร้อมกับแผนที่ดาวขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นสื่อในการดูดาวอย่างสนุกสนาน
สุดท้ายผู้ที่เอาชนะใจกรรมการและได้รับตำแหน่งยุวทูตดาราศาสตร์ประจำปี 2554 คือ นายพลเดช ซึ่งเขาได้เผยความรู้สึกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ หลังประกาศผลรางวัลว่า รางวัลที่เขาได้รับนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
ระหว่างตอบคำถามคณะกรรมการนายพลเดชกล่าวว่าเขาเพิ่งเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเพื่อร่วมค่ายวิทยาศาสตร์อาเซียนพลัสทรีสำหรับเยาวชนผู้มีความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์เอซีจีเอส (ASEAN+3 Center for the Gift in Science: ACGS) พร้อมกับเยาวชนอีก 1 คนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ เจเอสทีพี (JSTP)
ในค่ายดังกล่าวเขาได้เข้าร่วมกลุ่มกับเยาวชนจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น เพื่อประกวดแนวคิดโครงงานวิทยาศาสตร์และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง แต่ตัวเขาเองสามารถคว้ารางวัลความเป็นผู้นำ (Leadership Award) จึงได้รับสิทธิในการเขาร่วมการประชุมเยาวชนผู้มีอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ จากประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Future Scientist Conference) ครั้งที่ 3 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะจัดขึ้นในเดือน เม.ย.2555 ซึ่งปกติจะให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ได้รับเหรียญทองเท่านั้น
นอกจากนี้ยุวทูตดาราศาสตร์คนล่าสุดยังเป็นนักเรียนทุนในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้คณะกรรมการตั้งคำถามว่าเขาได้รับโอกาสเยอะเกินไปหรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่าเสนอตัวเข้ามารับตำแหน่งยุวทูตดาราศาสตร์โดยไม่คิดว่าจะแย่งโอกาสเพื่อนๆ แต่เนื่องจากเขาได้รับโอกาสหลายอย่างจากประเทศ จึงอยากจะตอบแทนชาติและเป็นตัวแทนออกไปแสดงให้ต่างชาติได้เห็นว่าเด็กไทยมีความสามารถ และคิดว่าโอกาสที่เขาได้รับนั้นไม่มากเกินไป เพราะในประเทศที่เจริญแล้วเด็กๆ จะได้รับโอกาสมากกว่านี้ อีกทั้งเขาเองก็อยากมีประสบการณ์ในวัยเด็กมากๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานเพื่อประเทศชาติในอนาคต
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการคัดเลือกยุวทูตดาราศาสตร์บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ปีนี้เด็กๆ ค่อนข้างกล้านำเสนอข้อมูลและนำเสนออย่างมั่นใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีของการประกวด และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์บางผลงานค่อนข้างดีมากและนำไปใช้ได้จริง
“หนึ่งปีที่ผ่านมาพอใจกับการดำเนินโครงการมาก อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กได้เห็นการพัฒนาและความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศอื่น และให้ต่างชาติได้รู้ว่าเด็กไทยเรามีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ ไม่คาดหวังว่าเด็กในโครงการจะต้องทำงานทางด้านดาราศาสตร์ แต่ต้องการแค่ให้เขาได้ใช้ดาราศาสตร์ในการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติ” รศ.บุญรักษากล่าว
ส่วน นายนัคเรศ อินทนะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจักรคำคณาธร จ.ลำพูน ยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ถึงประสบการณ์ตลอด 1 ปีในการทำหน้าที่ว่า เขาได้ไปชมกล้องดูดาวขนาด 2.5 เมตรที่จีนและเจออะไรใหม่ๆ ที่ให้อะไรได้มากกว่าการอ่านหนังสือ รวมทั้งมีโอกาสได้พูดคุยกับนักดาราศาสตร์จีน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขามาก และทำให้ตระหนักว่าจะต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองเพื่อเป็นนักดาราศาสตร์ที่ดีในอนาคต
“ผมมีโอกาสได้คุยกับนักดาราศาสตร์จีนซึ่งเป็นผู้อำนวยการของหอดูดาวที่โน่น และจะถามอะไรเขาก็ได้ ต่างไปจากการอ่านหนังสือที่มีคนกำหนดรูปแบบมาให้แล้ว ทำให้ผมได้แรงบันดาลมาเพียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากกว่าความรู้ ส่วนความรู้เองก็ได้มามากเช่นกัน” นัคเรศกล่าว และบอกว่าเขาได้ทำหน้าที่ในฐานะยุวทูตดาราศาสตร์โดยการร่วมกิจกรรมของ สดร. ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ รวมถึงสอนเยาวชนในการดูดาว และบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน
ทั้งนี้ นายพลเดชพร้อมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือนายอำพันเทพ และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ น.ส.ฐิติกานต์ จะได้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (Korea Astronomy and Space Science Institute) หรือ คาไซ (KASI) ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ระดับประเทศ และยังมีเครือข่ายหอดูดาวอีกมาก โดยสถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแทจอน ซึ่งเป็นเมืองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ พร้อมเยี่ยมชมการทำงานของนักดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวโบฮยูนซัน (Bohyunsan) ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร
นอกจากนี้ยุวทูตดาราศาสตร์จะได้เยี่ยมชม หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแทดุค (Taeduk) ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 14 เมตร ห้องควบคุมการทำงานระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวเมานต์เลมมอนมหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐฯ เยี่ยมศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์นานาชาติ ท้องฟ้าจำลอง อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี และหอดูดาวชอมซองแตซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของเกาหลีในสมัยมหาราชินีซอนต็อก