xs
xsm
sm
md
lg

รวยซะอย่าง ! โครงการอวกาศมังกรวิ่งฉิวจนพี่กันสะเทือน

เผยแพร่:   โดย: พรรณพิไล นาคธน

จรวดขนส่งฉังเจิง 3 ซี กำลังพายานสำรวจอวกาศฉังเอ๋อ 2 ที่ไร้นักบิน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ จากสถานีส่งดาวเทียมซีชัง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) วันที่ 1 ต.ค. 2553 (ภาพรอยเตอร์)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - เล็กไปเสียแล้ว ที่ดาวเคราะห์โลกจะเป็นสนามประลองความเก่งกาจเหนือชั้นของบรรดาชาติมหาอำนาจ ห้วงอวกาศ อันเวิ้งว้างไร้จุดสิ้นสุดจึงกลายเป็นสนามแข่งขันใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากการสำรวจ เพื่อความรู้ของมนุษยชาติแล้ว การแข่งขัน เพื่อช่วงชิงความเป็นจ้าวด้านโครงการอวกาศยังกำลังเข้มข้นอีกด้วย

ในส่วนจีนกับสหรัฐฯ นั้น แม้จะผงกหัวยอมรับว่า ประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านอวกาศของตนยังล้าหลังพี่กันอยู่มาก แต่พญามังกรก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการ เพื่อตะลุยสำรวจห้วงอวกาศอย่างไม่ลดละโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอยู่สิ่งหนึ่ง ที่พญามังกรเหนือชั้นกว่าพี่กันในตอนนี้ก็คือเงินทุน !

โครงการอวกาศของพญามังกรเหินทะยานไปอีกขั้นในปีนี้ โดยจะยิงจรวดพาโมดูลขนาดเท่าตู้รถไฟเข้าสู่วงโคจรโลก มันคือสิ่งก่อสร้างชิ้นแรกสำหรับสถานีอวกาศยี่ห้อมังกร จากนั้นในราว ๆ ปี 2556 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จีนยังมีแผนการส่งยานลงแล่นสำรวจบนพื้นผิวขรุขระของดวงจันทร์ และเตรียมส่งมนุษย์อวกาศไปที่นั่น หลังจากปี 2563 ไปแล้ว
ไจ๋ จื้อกัง นักบินอวกาศจีนวัย 42 ปี ก้าวออกตัวยานอวกาศเสินโจว 7 ในวันเสาร์(27 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.41 ตามเวลากรุงปักกิ่ง และปฏิบัติภารกิจนอกตัวยานราว 20 นาที นับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อวกาศจีน(ภาพเอเยนซี)
เหลียวมาดูพญาอินทรีอย่างสหรัฐฯ บ้าง โครงการส่งยานกระสวยอวกาศขนเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะปิดฉากลง ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังคิดคำนวณย่างก้าวต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเกรงว่า พี่กันอาจล้าหลังจีน

“ ความเป็นผู้นำด้านอวกาศถือเป็นสัญลักษณ์ความสามารถของชาติ และบารมีในหมู่นานาชาติอย่างมากทีเดียว ความเป็นผู้นำด้านอวกาศ ที่ตกต่ำลงจะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์การตกต่ำของอำนาจและบารมีของสหรัฐฯ” นายสก็อตต์ เพซ ผู้ช่วยผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซ่าในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยูบุช ระบุ

เขาเป็นผู้สนับสนุนแผนการของบุช ที่ให้ชาวอเมริกันหวนคืนสู่ดวงจันทร์ แต่ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า เอาขึ้นหิ้งเสียแล้ว

ขณะนี้โครงการอวกาศของสหรัฐฯ อาจตกเป็นเหยื่อให้แก่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงบประมาณ หรือการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้า แต่จีนดูเหมือนไม่ต้องเผชิญกับแรงบีบบังคับเช่นนี้
จีนนับเป็นประเทศที่สาม ที่ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เมื่อพันโทหยาง หลี่เวยนักบินอวกาศคนแรกของจีน นำยานอวกาศเสินโจว5 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2546  หยาง หลี่เวย ได้เคยเขียนบันทึกที่โต๊ะลูกชายของตนว่า “สำหรับลูก เกียรติยศมาจากพ่อ สำหรับพ่อ เกียรติยศมาจากกองทัพและประเทศ” (ภาพเอเยนซี)
“ ข้อได้เปรียบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของจีนได้แก่จีนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ดังนั้น จึงสามารถพัฒนาได้ต่อไปอย่างราบรื่น” นายปีเตอร์ บอนด์ บรรณาธิการที่ปรึกษาของ Jane’s Space Systems and Industry ระบุ

“พวกเขากำลังดำเนินการทีละขั้นตอน ใช้เวลา และค่อย ๆ ปรับปรุงขีดความสามารถ พวกเขากำลังรวบรวมชิ้นส่วนทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอวกาศ ที่ก้าวหน้าและสามารถ”

เมื่อปี 2546 พญามังกรผงาดศักดิ์ศรีเป็นชาติที่ 3 ในโลก ที่ส่งมนุษย์ไปยังอวกาศด้วยลำแข้งของตัวเอง หลังจากความสำเร็จของสหรัฐฯ และรัสเซียผ่านมา 4 ทศวรรษ

เท่านั้นยังไม่พอ จีนยังส่งยานโคจรสำรวจรอบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 2549 และนักบินอวกาศจีนก็ได้ออกย่ำอวกาศเป็นหนแรกในอีก 2 ปีต่อมา
พันโทหยาง หลี่เวยนักบินอวกาศคนแรกของจีน (ภาพเอเยนซี)
ส่วนสถานีอวกาศนั้น พญามังกรเตรียมเปิดในราวปี 2563 ปีเดียวกับที่สถานีอวกาศนานาชาติต้องปิดตัวลง หากสหรัฐฯ และชาติหุ้นส่วนยังไม่มีอะไรมาแทน สถานีอวกาศของจีนก็อาจเป็นสถานที่อยู่ของมนุษย์อย่างถาวรเพียงแห่งเดียวในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม ห้องทดลองในอวกาศฉบับมังกรนี้มีขนาดเล็กกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล และดำเนินการสร้างร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น และชาติยุโรปอีก 11 ชาติ

“ จีนยังล้าหลังสหรัฐฯตั้ง 20-40 ปีโน่นแน่ะครับเรื่องโครงการอวกาศ และจีนไม่มีเจตนาจะท้าทายความเป็นจ้าวด้านอวกาศของสหรัฐฯ หรอก” เหอ ฉีซ่ง อาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ออกตัว

“ แต่การพัฒนาโครงการอวกาศเป็นเครื่องหมายแห่งจิตวิญญาณของชาติ ฉะนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับจีน”

ทว่าโครงการบางส่วนของจีนก็ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ถึงกับสะดุ้ง โดยเฉพาะเมื่อคราวที่จีนยิงขีปนาวุธจากพื้นไปยังดาวเทียมของตน ที่หมดอายุแล้วดวงหนึ่งเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะนั่นมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านการทหารในอวกาศ

อีกทั้งโครงการอวกาศของจีนก็ดำเนินการโดยกองทัพ ด้วยเหตุนี้พี่กันจึงรีรอ ที่จะร่วมมือด้านอวกาศแม้ว่าอีกฝ่ายยืนยันว่า โครงการของตนเป็นโครงการเพื่อสันติอย่างแท้จริงก็ตาม
ขณะที่ยานอวกาศฉางเอ๋อ 1 เป็นดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรกของจีน ที่ปล่อยสู่วงโคจรเมื่อปี 2550  ล่าสุด เทียนกง 1 หรือ วังสวรรค์ สถานีทดลองในอวกาศของจีน ก็คาดว่าจะกลายเป็นสถานีอวกาศเพียงแห่งเดียว ซึ่งอยู่ในวงโคจรโลกภายหลังจากปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)  จะมีกำหนดปลดระวางในปีดังกล่าว(ภาพเอเยนซี)
นอกจากนั้น ระดับสหรัฐฯ แล้ว เมินเสียเถอะ ที่จะย้อนกลับไปดวงจันทร์ให้เสียเวลา และเสียดอลลาร์

“ เราเคยไปที่นั่นมาก่อน” ประธานาธิบดีโอบาม่าประกาศเมื่อปีที่แล้ว

“ มีอวกาศอีกตั้งเยอะแยะให้สำรวจ” เขาระบุ

โอบาม่านั้นอยากให้ส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งภายในปี 2568 มากกว่า และเดินทางไปยังดาวอังคารในที่สุด

ขณะที่นายอู๋ เหว่ยเหริน หัวหน้าผู้วางแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนก็ได้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งฟังดูเจียมเนื้อเจียมตัวว่า การสำรวจดวงจันทร์เป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจห้วงอวกาศอย่างลึกซึ้งในวันข้างหน้า และจีนจำเป็นต้องปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ให้ดีเสียก่อน รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งจากนั้น อาจนำไปใช้ในการสำรวจดาวอังคาร หรือดาวพระศุกร์ในอนาคตก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น