“ดอว์น” ยานสำรวจแถบดาวเคราะห์น้อยของนาซาเผยภาพแรกหลังเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อย “เวสตา” โชว์รายละเอียดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษากำเนิดระบบสุริยะและการส่งมนุษย์ออกไปศึกษาอวกาศไกลโพ้น
หลังจากเป็นยานอวกาศลำแรกที่เข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อย “เวสตา” (Vesta) ในแถบดาวเคราะห์น้อยซึ่งอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี “ดอว์น” (Dawn) ยานอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้บันทึกภาพแรกของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แล้วส่งกลับมายังโลก
วิศวกรคำนวณว่ายานดอว์นถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์น้อยดึงเข้าสู่วงโคจรเมื่อเที่ยงวันที่ 16 ก.ค.2011 ตามเวลาประเทศไทย โดยยานอวกาศและดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างกันประมาณ 16,000 กิโลเมตร และทั้งคู่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 188 ล้านกิโลเมตร
ไซน์เดลีระบุว่า ทีมปฏิบัติการยานอวกาศดอว์นจะเริ่มรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์จากยานอวกาศลำนี้ในเดือน ส.ค. และการสำรวจครั้งนี้จะให้ข้อมูลที่เราไม่เคยได้รับมาก่อน ซึ่งจะช่วยนักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจกำเนิดของระบบสุริยะ และยังปูทางสำหรับปฏิบัติการในการส่งมนุษย์ออกไปสำรวจอวกาศอันไกลโพ้นต่อไป
ทั้งนี้ เวสตาเป็นดาวเคราะห์น้อยทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 530 กิโลเมตร เป็นดาวเคราะห์น้อยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ทั้งบนพื้นโลกและในอวกาศต่างบันทึกภาพดาวเคราห์น้อยดวงนี้มาราว 2 ศตวรรษแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ได้รายละเอียดพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มากนัก
บีบีซีนิวส์ระบุว่า เวสตาถูกค้นพบเมื่อปี 1807 ซึ่งในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าคือดาวเคราะห์อีกดวง เนื่องจากขนาดของดาวเคราะห์น้อยที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและพบข้อมูลความหลากหลายของวัตถุในระบบสุริยะมากขึ้น เวสตาก็ถูกลดสถานะเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อย ทั้งนี้ดอว์นใช้เวลา 4 ปีเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย และจะศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถึงปีหน้า ก่อนจะเดินทางต่อไปยังดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ที่ชื่อ “เซเรส” (Ceres)