xs
xsm
sm
md
lg

YU55 เข้าใกล้โลกให้นักดาราศาสตร์ศึกษาดาวเคราะห์น้อยได้ไม่แพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเรดาร์ของดาวเคราะห์น้อย 2005 วายยู55 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.54 ขณะดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลกในระยะ 3.6 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ คือประมาณ 1.38 ล้านกิโลเมตร (นาซา/ JPL-Caltech)
2005 YU55 ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุดที่เคลื่อนเข้าใกล้โลกในรอบ 35 ปี ผ่านเราไปแล้วโดยไม่ทำอันตรายใดๆ ขณะเดียวกลับเป็นประโยชน์แก่นักวิทยาศาสตร์ให้ได้ศึกษาองค์ประกอบและกำเนิดของวัตถุอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล

ดาวเคราะห์น้อย 2005 วายยู55 (2005 YU55) ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุดที่เข้าใกล้โลกนับแต่ปี 1976 ได้ผ่านเราไปแล้วเมื่อเวลา 06.28 น.ของวันที่ 9 พ.ย.54 ตามเวลาประเทศไทย โดยดาวเคราะห์ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับเครื่องบินนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร ตามรายงานของสเปซด็อทคอม และมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 15 เดือน โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเข้าใกล้โลกอีกในปี 2028

ระยะที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เข้าใกล้โลกคือประมาณ 321,868 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้โลกมากกว่าระยะวงโคจรของดวงจันทร์ แต่ก็ไม่สร้างอันตรายใดๆ แก่โลก หากรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ทั้งนักดาราศาสตร์อาชีพและนักดาราศาสตร์สมัครได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ติดตามดาวเคราะห์ดวงนี้ เพื่อศึกษาว่าวายยู55 นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หมุนด้วยความเร็วเท่าไร รวมถึงดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาจากไหน

“ค้นหามันได้ง่ายมาก มันเคลื่อนตัวแตกต่างไปจากดาวอื่นๆ ที่กำลังเคลื่อนที่ มันดูคล้ายหินก้อนยักษ์ลอยล่องอยู่ในอวกาศ เราต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อส่งยานอวกาศเข้าไปใกล้ดาวเคราะห์น้อย แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กลับเข้ามาหาเรา มันบินผ่านที่สวนหลังบ้านเรานี่เอง” โรนัลด์ แดนโทวิทซ์ (Ronald Dantowitz) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเคลย์เซนเตอร์ (Clay Center Observatory) บอกรอยเตอร์

โรเบิร์ต แมคมิลลัน (Robert McMillan) จากหอดูดาวลูนาร์แอนด์แพลเนทารี (Lunar and Planetary Laboratory) ของมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยวายยู 55 เมื่อปี 2005 ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่า วายยู55 นั้นมาเยือนโลกเมื่อหลายพันปีก่อน และถูกผลักออกจากแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี หลังจากถูกเหวี่ยงโดยแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี

จากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ดอน ยีโอแมนส์ (Don Yeomans) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยว่าเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ไม่มีโอกาสพุ่งชนโลกหรือดวงจันทร์ในรอบ 100 ปีนี้อย่างแน่นอน แต่ยังไม่มีแบบจำลองว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสนใจต่อดาวเคราะห์และพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเพื่อตอบคำถามว่าระบบสุริยะนั้นกำเนิดขึ้นมาอย่างไร และในส่วนของวายยู 55 นั้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ประเภทธรรมดาที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบแต่ก็มีขนาดใหญ่มาก โดยหินโบราณของดาวเคราะห์น้อยนี้อาจประกอบด้วยน้ำ โลหะและวัสดุอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักสำรวจอวกาศ

ทั้งนี้ โครงการส่งมนุษย์สำรวจอวกาศครั้งต่อไปของนาซาคือ การส่งมนุษย์ไปเยือนดาวเคราะห์น้อยในปี 2025
ภาพถ่ายเรดาร์ของดาวเคราะห์น้อย 2005 วายยู55 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.54 ขณะดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลกในระยะ 6.4 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ คือประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร (นาซา/ JPL-Caltech)
แผนภาพแสดงเส้นทางเดินของดาวเคราะห์น้อยวายยู55 โดยภาพกรอบบนแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยผ่านเข้าใกล้โลกในตำแหน่งที่ใกล้กว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์(Karl Tate/สเปซด็อทคอม)
แต่เมื่อมองในมุมด้านข้างจะเห็นว่าดาวเคราะห์น้อยอยู่คนละระนาบกับโลกและดวงจันทร์ (Karl Tate/สเปซด็อทคอม)
ภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์น้อยต่างๆ ที่เข้าใกล้โลก (จุดสีฟ้าด้านซ้าย) มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ (จุดสีเทาขวาสุด) ได้แก่ (ซ้ายไปขวา) ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (Apophis) ซึ่งจะเข้าใกล้โลกในระยะดังกล่าววันที่ 13 เม.ย.2029, ดาวเคราะห์น้อย 2001 ดับเบิลยูเอ็น5 (2001 WN5) ซึ่งจะเข้าใกล้โลกในระยะดังกล่าววันที่ 26 มิ.ย.2028 , ดาวเคราะห์น้อย 2010 เอ็กซ์ซี15 (2010 XC15) ซึ่งเข้าใกล้โลกในระยะดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.1976 และ ดาวเคราะห์น้อย 2005 วายยู55 (2005 YU5) ซึ่งเข้าใกล้โลกในระยะดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย.54 ตามเวลาซีกโลกตะวันตก (Karl Tate/สเปซด็อทคอม)
ภาพเรดาร์ของดาวเคราะห์น้อยวายยู 55 ซึ่งบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์อาเรซิโบ (Arecibo) ในเปอร์โตริโก เมื่อเดือน เม.ย.2010 (สเปซด็อทคอม)
โรเบิร์ต แมคมิลลัน ผู้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยวายยู 55 นั่งอยู่ในห้องควบคุมเฝ้าระวังอวกาศในห้องดูดาวคิตต์พีก (Kitt Peak)
กล้องโทรทรรศน์เรดาร์โกลด์สโตน (Goldstone) ซึ่งติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยวายยู 55 ในการเข้าใกล้โลกครั้งนี้ โดยสามารถตรวจจับวัตถุขนาด 2 มิลลิเมตรที่ความสูงต่ำกว่า 1,000 กิโลเมตรได้ (นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น