นักฟิสิกส์ จุฬาฯ แจงแผ่นดินไหวจนแผ่นดินเลื่อน แกนโลกขยับส่งผลกระทบไม่มาก ต้องใช้เวลานาน ไม่เหมือนคำทำนาย 2012 ระบุยังไม่เคยมีปรากฏอิทธิพลจากดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์สร้างภัยพิบัติให้โลก
เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ที่บริเวณชายฝั่งนอกเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่นจนเกิดเป็นสึนามิขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั้งในแง่ความสูญเสีย และยังสร้างความหวั่นวิตกถึงพิบัติภัยต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำทำนายที่เกี่ยวกับวันสิ้นโลก 2012 ที่มีการหยิบยกขึ้นมาอ้างอย่างหนาหู
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง "เผยข้อมูลใหม่กรณีแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น กับความกังวลในสังคมไทย" เมื่อวันที่ 14 มี.ค.54 ณ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อต้องการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
แผ่นดินเลื่อน-เวลาเปลี่ยน-แกนโลกขยับ
ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ได้อธิบายเรื่องแกนโลกที่ขยับหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดว่า โลกของเราไม่ได้กลมสมบูรณ์ ที่แกนกลางจะประกอบไปด้วยของเหลว และมีแผ่นเปลือกโลกเป็นแผ่นๆ หุ้มอยู่
ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จึงส่งผลให้เปลือกโลกขยับ จะทำให้รัศมีหรือรูปร่างของโลกเปลี่ยนแปลงไป คาบการหมุนของโลกจะเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ด้วยรัศมีโลกที่มีขนาดประมาณ 6 หมื่นกิโลเมตร การขยับเพียง 2.4 เมตรตามที่ปรากฎในข่าว จึงทำให้ไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลง
ส่วนเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป 1.8 ไมโครวินาที ตามที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เปิดเผยออกมานั้น ดร.สธนอธิบายว่า เมื่อรูปร่างของโลกไปเปลี่ยนไป การหมุนของโลกก็เปลี่ยนตาม คือโลกจะหมุนเร็วขึ้น ในระยะสั้นจะยังไม่เห็นผลอะไร แต่จะส่งผลในระยะยาวเป็นล้านๆ ปี
"ปกติแล้วถ้าคาบการหมุนของโลกเร็วขึ้น ก็หมายความว่าเราจะพบวันเร็วขึ้น แต่กว่าที่จะสะสมครบว่าหายไป 1 นาทีก็ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี เพราะเวลาที่หายไปตอนนี้คือ 2 ในส่วนล้านวินาที" ดร.สธนอธิบาย โดยระบุว่า นาซาได้ประเมินทุกครั้งที่มีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ในส่วนของแกนโลกที่มีรายงานว่าขยับไปกว่า 10 เซ็นติเมตรนั้น ดร.สุธนทำความเข้าใจว่า แกนโลกที่ขยับ คือแกนรูปร่างของโลก (Earth's figure axis) ซึ่งเป็นแกนที่วางตัวบริเวณที่มวลของโลกสมดุล
"แกนโลกเหมือนกับเสาที่ปักอยู่กลางน้ำ และมีเปลือกหุ้มอยู่ เปลือกโลกเลื่อนไปมาได้ เมื่อเปลือกโลกขยับปรับรูปแบบ แกนหมุนของโลกยังอยู่ที่เดิม เพียงแต่ว่าเปลือกเลื่อนไป ตำแหน่งของแกนหมุนจึงดูเหมือนขยับห่างออกไป เมื่อมองเทียบกับพื้นโลก"
อย่างไรก็ดี แกนเหนือซึ่งเป็นแกนหมุนของโลก (ตรงใจกลางที่เอียงอยู่ในแนวเหนือ-ใต้) ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ใช่แกนโลกเปลี่ยนแปลงอย่างที่เข้าใจตามความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลก ตามภาพยนตร์ที่ระบุถึงปี 2012
อิทธิพลจากดวงดาวมาไกลไม่ถึงโลก
นอกจากนี้ ต่อข้อสงสัยเรื่องแรงของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ที่ส่งผลต่อโลก จนเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงนั้น ดร.สธนชี้แจงว่า แรงที่เกิดจากดวงจันทร์นั้นมีค่าน้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้
"แรงของดวงจันทร์มีผลต่อของเหลว ซึ่งผลกระทบต่อโลกก็คือการน้ำขึ้นลงของน้ำ แต่ถ้าวัดแรงนี้จริงๆ ยังไม่สามารถดึงเชือกเหนียวๆ ให้ขาดได้ หรือไม่สามารถทำให้ก้อนหินแตกได้" ดร.สุธนอธิบาย ซึ่งเรื่องของแรงดวงจันทร์ที่มีอิทธิพลต่อโลกนั้นถือเป็นความเชื่อ
ส่วนปรากฎการณ์เปลวสุริยะ (solar flare) นั้น มีผลกระทบต่อดาวเทียม แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ามีผลกระทบต่อแผ่นดินไหว แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดแผ่นดินไหวทำให้สนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามหลักการเกิดแผ่นดินไหว