xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม? ฉลามใช้ “แผนที่จิตใจ” นำทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉลามเสือเดินทางไปยังปลายทางอย่างมีเป้าหมาย ราวกับมีแผนที่่ในกำหนดไว้ (บีบีซีนิวส์)
นักวิจัยเผยฉลามบางชนิดใช้ “แผนที่จิตใจ” นำทางกลับบ้าน ซึ่งช่วยให้ปลายักษ์ใหญ่ “ปักหมุด” เดินทางสู่จุดหมายได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร โดยเป็นผลงานนักวิจัยสหรัฐฯ ซึ่งติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุจากฉลาม และพบว่าเจ้าแห่งท้องทะเล เดินทางเป็นเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง

สำหรับฉลามบางชนิดอย่างฉลามครีบดำ (blacktip reef shark) ไม่ได้แสดงออกว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว โดยงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารเจอร์นัลออฟแอนิมอลอีโคโลจี (the Journal of Animal Ecology) นี้ได้ชี้ว่าพฤติกรรมของฉลามได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเก็บข้อมูลแผนที่ของจุดที่สำคัญไว้ มากกว่านั้นยังเป็นหลักฐานว่าปลาเจ้าสมุทรนี้อาจใช้สนามแม่เหล็กโลกเพื่อนำทาง

งานวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งศึกษาในฮาวาย ได้แสดงให้เห็นว่าฉลามเสือ (tiger shark) สามารถว่ายข้ามช่องแคบลึกไปหาอ่าวน้ำตื้นที่อุดมไปด้วยอาหารซึ่งอยู่ห่างถึง 50 กิโลเมตรได้

ส่วนโครงการนี้ บีบีซีนิวส์รายงานว่าทีมวิจัยได้เทคนิคทางสถิติเพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางของฉลามนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ และฉลามเสือสามารถที่เคลื่อนที่ไปตามบางเส้นทางได้ แต่กรณีไม่รวมฉลามครีบดำ ส่วนฉลามหางยาว (thresher shark) ได้แสดงให้เห็น “การเดินทางแบบตรงดิ่ง” เหมือนฉลามเสือ แต่อยู่ในระดับที่น้อยกว่า

“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า บางครั้งฉลามเสือและฉลามหางยาว ไม่ได้ว่ายน้ำไปแบบเดาสุ่ม แต่ว่ายน้ำไปยังเป้าหมายที่กำหนดจำเพาะ พวกมันรู้ว่ากำลังจะไปไหน” ดร.ยานนิส ปาปาสแทมอาทีโอ (Dr.Yannis Papastamatiou) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฟลอริดา (Florida Museum of Natural History) ในเกนส์วิลล์ ฟลอริดา สหรัฐฯ กล่าว

คำถามสำคัญคือ ฉลามเหล่านั้นรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังจะไปไหน ทั้งนี้ ฉลามเป็นหนึ่งในสัตว์ที่รับสัมผัสสนามแม่เหล็กได้ หากแต่สัตว์อื่นที่รับสัมผัสสนามแม่เหล็กได้ เช่น ทูน่าครีบเหลือง (yellowfin tuna) นั้นอาศัยแร่แม่เหล็กก้อนเล็กๆ ในหัวเพื่อรับสัมผัสดังกล่าว แต่กลับไม่ปรากฏตัวรับสัญญาณสนามแม่เหล็กในฉลาม

อีกความเป็นไปได้คือ ฉลามอาจใช้สัญญาณจากกระแสน้ำในมหาสมุทร อุณหภูมิน้ำหรือกลิ่นเพื่อนำทาง

“พวกมันมีระบบนำทางที่ดีเยี่ยม เพราะว่าเส้นทางเดินนั้นไกลมาก ไม่ว่าฉลามจะใช้อะไรเป็นสัญญาณนำทางก็เปิดโอกาสให้มีการโต้เถียงทั้งนั้น แต่ความจริงว่าการเดินทางบ่อยครั้งนั้นเกิดขึ้นตอนกลางคืน คุณและฉันย่อมคิดว่าไม่มีอะไรให้เป็นเป็นจุดอ้างอิง ดังนั้น การอ้างอิงกับสนามแม่เหล็กน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” ดร.ปาปาสแทมอาทีโอ กล่าว

ในส่วนของฉลามหางยาวนั้น ตัวเต็มวัยจะเดินทางได้ไกลกว่าฉลามรุ่นเยาว์ ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า เป็นสิ่งที่ชี้ถึงการสร้างแผนที่จิตใจเมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และความแตกต่างของฉลามแต่ละสปีชีส์น่าจะอธิบายได้ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของฉลามที่หลากหลายนั่นเอง

แม้ว่าฉลามครีบดำ (คาร์ชารินัส เมลาโนเทรัส - Carcharhinus melanopterus) จะกระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็พบว่ากระจายตัวแคบๆ อยู่ภายในแนวปะการังที่อยู่อาศัยเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งฉลามเสือ (กาเลโอเซอร์โด คูเวียร์ - Galeocerdo cuvier ) สามารถท่องไปในระยะทางที่กว้างไกลกว่า และทีมวิจัยยังจับสัญญาณจากเครื่องส่งที่ติดให้กับฉลามไปได้ไกลถึง 3,000 กิโลเมตรจากจุดที่เครื่องสัญญาณถูกติด
ฉลามหางยาวมีความสามารถคล้ายฉลามเสือแต่เดินทางในระยะใกล้กว่า (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น