xs
xsm
sm
md
lg

ชี้วิกฤต “ฟูกูชิมะ” โอกาสดีให้ไทยเรียนรู้ก่อนมี “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภานุพงศ์ พินกฤษ
วิศวกรไทยชี้วิกฤต “ฟูกูชิมะ” เป็นโอกาสดีให้ไทยเรียนรู้และเตรียมรับมือหากไทยจะมี “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” พร้อมระบุตอนนี้ยังไม่มีใครเห็นสถานการณ์จริง นอกจากคาดการณ์ตามหลักฐานแวดล้อม และตามปกติต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะเอาแท่งเชื้อเพลิงออกจากแกนปฏิกรณ์ได้

นายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศวกรนิวเคลียร์ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวถึงวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือน มี.ค.54 ที่ผ่านมาว่า อุบัติเหตุครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้ไทยได้รู้ถึงจุดอ่อนและได้ศึกษาเรียนรู้ หากไทยจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งเรื่องที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง และการจัดการความปลอดภัย

“สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงต่อสึนามิ และแม้ว่ามีจะกำแพงกันคลื่นสูงถึง 10 เมตร แต่ปรากฏว่าคลื่นยังซัดเข้ามาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และหลังจากที่เตาปฏิกรณ์ดับตัวเองโดยอัตโนมัติตามระบบที่ออกแบบมา จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อระบายความร้อนจากแกนเตาปฏิกรณ์ แต่ระบบเหล่านั้นก็อยู่ต่ำกว่าความสูงของคลื่น” ภานุพงศ์ ชี้ให้เห็นจุดที่เราจะนำมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต

ทั้งนี้ วิศวกรนิวเคลียร์ ปส.ให้ข้อมูลทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าโดยปกติกว่าเราลดอุณหภูมิแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วให้มีอุณหภูมิปกติต้องใช้เวลาถึง 3 ปี โดยหลังจากนำแท่งเชื้อเพลิงออกจากแกนปฏิกรณ์แล้วต้องนำไปแช่ในบ่อน้ำเพื่อระบายความร้อน อย่างกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ของสหรัฐฯ ระเบิด ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าเข้าไปภายในจุดเกิดเหตุได้

“ตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนและเห็นจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้เป็นการรวบรวมจากพยานแวดล้อม สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่จบ ต้องใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป เหตุการณ์นี้มีประโยชน์ต่อไทยตรงที่จะเป็นกรณีศึกษา วันดีคืนดีเราอาจจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราจะได้วางแผนและเตรียมการ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเป็นบทเรียนส่วนหนึ่ง” ภานุพงศ์กล่าว

ด้าน ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการ ปส.กล่าวว่า จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ทาง ปส.ได้เฝ้าระวังการปนเปื้อนทางรังสีทั้งในน้ำ อาหารและอากาศ โดยได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษตัวตัวอย่างน้ำทะเลน้ำตื้น 26 ตัวอย่าง และพบว่าระดับรังสีปกติ และจะขอความร่วมมือกับกรมประมงเพื่อตรวจตัวอย่างน้ำทะเลน้ำลึกทั้งฝังอันดามันและอ่าวไทย ส่วนการปนเปื้อนในอาหารนั้นได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น และทางอากาศนั้น ปส.มีสถานีตรวจวัดรังสีในอากาศ 8 แห่งทั่วประเทศ



รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น