xs
xsm
sm
md
lg

จัดแข่งหุ่นยนต์กู้ภัยวิกฤตนิวเคลียร์เฟ้นหา "ยุวทูตรักอะตอม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างหุ่นยนต์กู้ภัยวิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ก.วิทย์-มรภ.จันทรเกษมจัดประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยวิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ พร้อมอบรมให้ความรู้พื้นฐานเรื่องนิวเคลียร์แก่ผู้เข้าแข่งขัน โดยผู้ชนะเลิศ 3 อันดับแรกจะได้เป็น “ยุวทูตรักอะตอม” ประจำปี 2555 ชี้เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ไปใช้ในหน่วยงานราชการทหาร ตำรวจ เพื่อกู้ภัยต่อไป

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  ร่วมกับสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์   คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  จัดการประกวดโครงการ “หุ่นยนต์กู้ภัย..เยาวชนทำได้” ประจำปี 2554 ภายใต้โจทย์การสร้าง “หุ่นยนต์กู้ภัยวิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์”

นายเฉลิมเกียรติ ดุลยสัมพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.จันทรเกษม กล่าวว่า การแข่งขัน“หุ่นยนต์กู้ภัย..เยาวชนทำได้” ได้จัดขึ้นมาเป็นปี ที่ 2 แล้ว ปีแรกนั้นให้ผู้เข้าแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ให้สามารถกู้ระเบิดได้ แต่สำหรับปี 2554 นั้นได้ตั้งโจทย์การแข่งขันที่ยากกว่าปีที่ผ่านมา คือเป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ต้องเข้าไปกู้ภัยวิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยหุ่นยนต์ที่เข้าทำการแข่งขันจะต้องออกแบบให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ที่กำหนด ทั้งนี้ ได้ออกแบบอุปสรรคให้ระบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุและเกิดความเสียหาย ทำให้ระบบทำการปิดตัวลงอัติโนมัติ

“ผู้เข้าแข่งขันจึงต้องบังคับให้หุ่นยนต์ไปทำการซ่อมแซมระบบหล่อเย็น เพื่อลดปริมาณความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ลง โดยผู้เข้าแข่งขันต้องบังคับให้หุ่นยนต์เข้าไปทำการเปลี่ยนอุปกรณ์กล่องวงจรของระบบหล่อเย็น หากปฏิบัติตามกติกาการแข่งขันอย่างครบถ้วน จึงจะถือว่าหุ่นยนต์สามารถปฏิบัติภารกิจสำเร็จ โดยผู้ควบคุมหุ่นยนต์จะถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในริเวณที่ไม่สามารถเห็นสนามได้ด้วยสายตา ทีมที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างถูกต้องและทำเวลาได้เร็วที่สุดจะถือว่าเป็นผู้ชนะในรอบนั้นๆ” นายเฉลิมเกียรติอธิบายกติกาการแข่งขัน

สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่สามารถเข้าร่วมได้นั้นต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา อุดมศึกษา หรือผู้ที่อยู่ในสถานะนักศึกษา โดยมีสมาชิกทีมละ 2-4 คน และผู้ที่ชนะเลิศการแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 5 แสนาท สำหรับการประกวดครั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติ บอกว่า คาดว่าน่าจะมีผู้สมัครราว 20-30 ทีม

ด้าน นายชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการ ปส. เปิดเผยว่า ก่อนที่การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยจะเริ่มขึ้นนั้น ทาง ปส. จะจัดให้มีการอบรมผู้เข้าแข่งขัน โดยมีผู้เชียวชาญด้านนิวเคลียร์จากสหรัฐอเมริกาแต่เป็นคนไทย มาวิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งการอบรมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. 54 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศสองอันดับ ทาง ปส.จะแต่งตั้งให้เป็น “ยุวทูตรักอะตอม” ประจำปี 2555 พร้อมได้รับโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ การทัศนศึกษาดูงานเกี่ยวการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันครั้งนี้ว่า เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้านวิจัยและพัฒนาศักยภาพหุ่นยนต์กู้ภัยให้สามารถหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพการประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยเพื่อแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นนักเทคโนโลยีที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตด้วย

"หุ่นยนต์ที่ได้เข้ามาประกวดนั้น จะสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในการกู้ภัยต่างๆ ทั้งในหน่วยงานราชการทหาร ตำรวจ และขณะนี้มีเอกชนเข้ามาติดต่อเพื่อนำไปผลิตเป็นเชิงพาณิชย์แล้ว" นายพรชัย บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ 

สำหรับการแข่งขัน จัดขึ้น 2 รอบ คือ รอบคัดเลือกในระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค. 54 ณ ม.ราชภัฎจันทรเกษม และรอบชิงชนะเลิศภายในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2554 โดยจัดร่วมกับงาน “บีโอไอแฟร์ 2011” (BOI FAIR 2011) ระหว่างวันที่ 10-25 พ.ย 54 นี้ ณ ฮอลล์ 9 อิมแพค เมืองทองธานี

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด กติกา และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่www.elecnet.chandra.ac.th โทรศัพท์ 02-942-9600-99 ต่อ 5071, 5073 และ 5076 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 54
(ซ้ายไปขวา) นายชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว ,น้องช้างจัมโบ้-ไอ มาสคอตงาน“บีโอไอแฟร์ 2011” นายพรชัย รุจิประภา และนายเฉลิมเกียรติ ดุลยสัมพันธ์
สถานการณ์จำลองหุ่นยนต์กู้ภัยนิวเคลียร์ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันได้บังคับให้หุ่นยนต์ไปทำการซ่อมแซมระบบหล่อเย็น เพื่อลดปริมาณความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
สถานการณ์จำลองการแข่งขันหุ่นยนต์ ที่หุ่นยนต์จะต้องเข้าไปกู้ภัยวิกฤตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยหุ่นยนต์ที่เข้าทำการแข่งขันจะต้องออกแบบให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ที่กำหนดให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น