xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “รถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ประจำรถรถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี กำลังอธิบายถึงระบบการทำงานของเครื่องวัดทิศทางของการฟุ้งกระจายสารรังสีในอากาศ (WEATHERPAK) เพื่อนำมาคำนวณความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
จากวิกฤติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ได้สร้างความตระหนักให้หลายประเทศหามาตรการเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะเดียวกัน ปส.ในฐานะการทำหน้าที่ดูแลและกำกับความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ของไทย ก็เผยโฉม “รถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี” ที่มีประจำการไว้ถึง 2 คัน รับมือกับอุบัติภัยที่ไม่คาดคิด
นายสมบุญ จิรชาญชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเตรียมความพร้อมประสานงานกรณีฉุกเฉินทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้พาทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ไปรู้จักกับ “รถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี” ของ ปส. ด้วยงบประมาณ 4,700,000 บาท สู่การออกแบบให้เป็นรถพร้อมใช้งานฉุกเฉินทางรังสีด้วยกัน 2 คัน คือ 1. รถศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ และ 2. รถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี

สำหรับรถคันที่ 1 “รถศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่” นายสมบุญ บอกว่า รถคันนี้ทำหน้าที่ในการบัญชาการและประสานงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ประจำรถจะต้องตัดสินใจให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในรถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสีได้ทันที

รถคันดังกล่าว ยังมีโปรแกรมการจำลองการแพร่กระจายรังสีในอากาศ (computer code) เพื่อคำนวณความปลอดภัยในการปฏิบัติงานที่ต้องแนะนำให้เจ้าหน้าที่ระงับเหตุต้องปฏิบัติ

นอกจากนั้น ต้องประสานงานโดยใช้ระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) กับ ศูนย์ประสานงานกลาง ที่ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารอำนวยการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่เขตบางเขน กรุงเทพฯ อีกด้วย

ส่วนหน้าที่ของรถคันที่ 2 “รถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี” นั้น นายสมบุญ กล่าวว่า เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าพื้นที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี ภายในรถจะมีเครื่องวัดทิศทางของการฟุ้งกระจายสารรังสีในอากาศ (Weather Pack) เครื่องนี้จะทำหน้าที่ในการวัดทิศทางลม ความเร็วลม ความดัน ความชื้น ว่าสารรังสีมีการกระจายไปในทิศทางไหน

ค่าที่ได้จะส่งไปยังรถบัญชาการ แล้วคำนวณในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินสถานการความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ภายในรถ จะต้องทำหน้าที่ระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี ตามสถานการณ์ และปฏิบัติตามที่ศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่กำหนด

นายสมบุญ บอกว่า ภายในรถมีอุปกรณ์และเครื่องมือจำเป็นในการระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี อาทิ เครื่องวัดรังสีชนิดต่างๆ ชุดป้องกันการเปรอะเปื้อนสารรังสี เครื่องดูดอากาศเพื่อประเมินว่า มีการฟุ้งกระจายของสารรังสีในอากาศเป็นเท่าใด เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ คีมคีบยาว และอุปกรณ์ชุดชำระการเปรอะเปื้อน

ผอ.กลุ่มเตรียมความพร้อมประสานงานกรณีฉุกเฉินทางรังสี ได้อธิบายการทำงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่แบ่งออกเป็น 4 ทีม ให้กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฟังว่า ทีมแรกคือ “ทีมสำรวจและประเมินความเป็นอันตรายทางรังสี” เจ้าหน้าที่ต้องนำเครื่องดูดอากาศเข้าไปในพื้นที่ เพื่อประเมินการฟุ้งกระจายของสารรังสีซึ่งอาจมีในที่เกิดเหตุ จากนั้นจึงนำเครื่องวัดรังสีที่มีหัววัดขนาดยาวเพื่อค้นหาต้นกำเนิดรังสีที่ตกหล่นอยู่

ข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ จะมีการประสานไปยังรถศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ เพื่อใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณความปลอดภัย รวมทั้งข้อมูลส่งผ่านจากรถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสีที่เกี่ยวกับทิศทางของการฟุ้งกระจายสารรังสีในอากาศ และระดับความเป็นอันตรายทางรังสีที่ประชาชนอาจได้รับ

จากนั้นรถบัญชาการจะนำส่งข้อมูลทั้งหมด ไปยังศูนย์อำนวยการกลางเพื่อช่วยตัดสินใจในการอพยพผู้คนออกนอกพื้นที่

เมื่อทีมแรกซึ่งสำรวจปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อย จำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนจากทีมที่ 2 “ทีมปฏิบัติงานตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสี” ทีมนี้ได้เตรียมการไว้บริเวณทางออก เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานนำการเปรอะเปื้อนทางรังสีออกนอกพื้นที่ พร้อมทั้งมีถังเตรียมไว้ในการเก็บอุปกรณ์ ชุดป้องกันการเปรอะเปื้อนทางรังสี เพื่อนำไปกำจัดเป็นกากกัมมันตรังสีต่อไป

หลังจากนั้นผู้ปฏิบัติงานทุกคน ต้องชำระร่างกายจากอุปกรณ์ชุดชำระการเปรอะเปื้อน และต้องตรวจวัดการเปรอะเปื้อนถึง 3 ครั้ง เพื่อความแน่ใจ

ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของทีมที่ 3 “ทีมเก็บกู้สารรังสี” ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำการเก็บกู้สารรังสีโดยใช้คีมคีบยาว เนื่องจากไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสสารรังสีโดยตรง และเป็นการลดระดับรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับด้วย

เมื่อปฏิบัติการเก็บกู้เสร็จสิ้น ทีมที่ 4 “ทีมตรวจสอบพื้นที่ซ้ำ” ก็จะเข้าตรวจสอบอีกครั้งว่ายังมีวัสดุกัมมันตรังสีหรือการเปรอะเปื้อนทางรังสีในพื้นที่หรือไม่

“เมื่อตรวจวัดระดับรังสีทั้งที่ตัวบุคคล และสถานที่แล้ว พบว่ารังสีเข้าสู่สถานการสภาวะปกติ ทางจุดเกิดเหตุจะรายงานไปยังศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ และศูนย์อำนวยการกลางเพื่อยุติสถานการณ์การระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสีทันที” นายสมบุญ กล่าว

นายสมบุญ เสริมว่า ทาง ปส.ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง นั่นคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการเข้ามาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ปส.เพื่อเตรียมความพร้อม และจะมีการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีประมาณประมาณ 25-30 คน

ทั้งนี้ การทำงานของรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสีนั้น ต้องได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุทางรังสีจริง มีด้วยกัน 2 กรณี คือ 1. เพื่อระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสีของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ไม่สามารถจัดการเองได้ และ 2. กรณีที่ไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ และส่วนใหญ่เป็นการลักลอบเข้ามาจากต่างประเทศ

นายสมบุญให้ความเห็นว่า การมีรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสีนั้น เพื่อช่วยในเรื่องของความสะดวกสบายในการปฏิบัติงาน เพราะเมื่อเกิดเหตุจะได้ไม่ต้องขอใช้รถจากส่วนกลาง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการทำเรื่องและเตรียมอุปกรณ์ รถคันนี้จะช่วยในด้านความรวดเร็ว เข้าระงับเหตุได้ทันท่วงที แต่ก็หวังว่าเหตุการณ์ทางรังสีจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี นายสมบุญยังบอกด้วยว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีสามารถแจ้งเหตุเข้ามาที่ 089-200-6243 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตลอด 24 ชั่วโมง.
นายสมบุญ จิรชาญชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเตรียมความพร้อมประสานงานกรณีฉุกเฉินทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
การปฏิบัติงานของทีมสำรวจและประเมินความเป็นอันตรายทางรังสี นำเครื่องวัดรังสีที่มีหัววัดขนาดยาวเพื่อค้นหาต้นกำเนิดรังสีที่ตกหล่นอยู่ ซึ่งเป็นการสาธิตระบบการทำงานของรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี ภายในงานสถาปนาครบรอบ 50 ปี ปส. วันที่ 25 เม.ย.54 ที่ผ่านมา
การปฏิบัติงานของทีมสำรวจและประเมินความเป็นอันตรายทางรังสี เมื่อค้นหาต้นกำเนิดรังสีที่ตกหล่นอยู่ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ประสานไปยังรถศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ เพื่อใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณในเรื่องความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
การทำงานของทีมปฏิบัติงานตรวจวัดการเปราะเปื้อนทางรังสี ทีมนี้จะเป็นผู้ตรวจวัดหาการเปราะเปื้อนทางรังสีจากผู้ปฏิบัติงานและผู้คนที่อยู่โดยรอบ ซึ่งหากพบจะมีถังเตรียมไว้เพื่อเก็บอุปกรณ์ เสื้อผ้า หรือชุดป้องกันการเปรอะเปื้อนทางรังสี เพื่อนำกากไปกำจัดเป็นกากกัมมันตรังสี จากนั้นจะให้ชำระร่างกายด้วยอุปกรณ์ชุดชำระการเปราะเปื้อน
การสาธิตการปฏิบัติงานของทีมเก็บกู้สารรังสี  โดยใช้คีบยาว เนื่องจากจะไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสสารรังสีโดยตรง และเป็นการลดระดับรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับด้วย
รถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี มีด้วยกัน 2 คัน คือ 1. รถศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่  และ 2.  รถระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี
ศูนย์ประสานงานกลางที่ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารอำนวยการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยใช้ระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) เชื่อมโยงกับรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี
การสาธิตการปฏิบัติงานของทีมตรวจสอบพื้นที่ซ้ำ เพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่ายังมีวัสดุกัมมันตรังสีหรือการเปรอะเปื้อนทางรังสีในพื้นที่หรือไม่
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. ได้มาร่วมฟังการสาธิตกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี โดยใช้รถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสี ที่ทาง ปส.ได้เปิดตัวในงานครบรอบ 50 ปี ปส. ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น