xs
xsm
sm
md
lg

50 ปี ปส.เปิดบ้านพาไปรู้จักนิวเคลียร์ให้มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนต่างให้ความสนใจในฐานกิจกรรมวอล์คแรลลี่ (Walk Rally) ฐานกิจกรรมรอบรู้เรื่องปรมาณู ในงาน “50 ปี เปิดบ้านปรมาณู” ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 เม.ย.54
วิกฤตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะที่ญี่ปุ่นอาจทำให้หลายคนหวาดกลัวนิวเคลียร์ แต่ในโอกาสเปิดบ้านฉลอง 50 ปีของ ปส.จะเป็นโอกาสอันดีให้เราได้รู้จักและเข้าใจนิวเคลียร์และรังสีให้มากขึ้น

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดกิจกรรม “50 ปี เปิดบ้านปรมาณู” ในวาระครบรอบ 50 ปีสถาปนาสำนักงาน ระหว่าง 25-26 เม.ย.54 ซึ่งนักเรียน-นักศึกษา เยาวชนและผู้ปกครองไปร่วมงานราว 500 คน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมตระเวนสำรวจกิจกรรมดังกล่าวด้วย

กิจกรรมวอล์คแรลลี (Walk Rally) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจำนวนมาก โดยกิจกรรมดังกล่าวแบ่งเป็นฐานกิจกรรมทั้งหมด 7 ฐาน แต่ละฐานจัดเกมไว้ให้ร่วมสนุกพร้อมสอดแทรกความรู้เรื่องนิวเคลียร์ และทางทีมงานได้เตรียมของรางวัลสำหรับใครที่ทำกิจกรรมครบตามฐานที่กำหนด

เดินสู่ ฐานกิจกรรมวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างตื่นเต้นในกิจกรรมของฐานนี้เป็นอย่างมาก ผู้ร่วมกิจกรรมต้องเคลื่อนแท่งโลหะไปรอบขดลวดที่ต่อวงจรกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ โดยไม่ให้แท่งโลหะกระทบขดลวด ซึ่งหากโลหะกระทบขดลวดจะเกิดเสียงดังขึ้น ซึ่งภายใต้ความตื่นเต้นสนุกสนานดังกล่าวนั้นมีแผ่นความรู้เกี่ยวกับวัฏจักรนิวเคลียร์ที่ให้ความรู้ว่าเริ่มต้นมาจากอะไร โดยเริ่มต้นจากการทำเหมือง จากนั้นนำเชื้อเพลิงมาบดให้มีอนุภาคเล็กลง ผ่านด้วยกระบวนการทางเคมีทำให้ยูเรเนียมเข้มขึ้น จากนั้นขึ้นรูปเม็ดเชื้อเพลิงแล้วนำมาใส่ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บางส่วนนำมาแปรรูป ส่วนของเสียถูกเก็บไว้ในที่ปลอดภัย

ถัดมาเป็นฐานกิจกรรมไขปริศนาปัญหานิวเคลียร์ ซึ่งนำเกมธรรมดาๆ มาแทรกความรู้นิวเคลียร์ อย่างเช่น การต่อจิกซอว์ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือภาพอุปกรณ์วัดรังสี เกมจับคู่สัญลักษณ์ทางรังสี เกมสอยดาวตอบคำถามนิวเคลียร์ เกมอ่านค่าจากเครื่องตรวจวัดรังสี

หากอยากเข้าใจการทำงานของเครื่องตรวจวัดอนุภาคมูลฐานให้มาที่ ฐานกิจกรรม Cloud Chamber ซึ่งจำลองให้เห็นการเดินทางของรังสีอัลฟาและเบตาในอากาศ โดยใช้ลังกล่องกระดาษเจาะรูด้านซ้าย-ขวา และเปิดฝากล่องไว้ ด้านในใส่กล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมบรรจุสารเคมี จากนั้นใช้ไฟฉายผ่านรูลังกระดาษให้ตกกระทบกล่องพลาสติกที่บรรจุสารเคมีไว้ ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมจะได้เห็นอนุภาคเคลื่อนที่ไปตามลำแสง

ส่วนใครที่อยากวัดภูมิความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานด้านรังสีมาร่วมสนุกตอบคำถามได้ที่ ฐานกิจกรรมมาตรฐานด้านรังสี โดยเลือกหยิบซองคำถามจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะตอบถูกหรือผิดก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น มาถึงฐานที่เข้ากับสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ฐานกิจกรรมการตรวจวัดทางรังสีและตรวจสอบการเปรอะเปื้อนสารรังสี ซึ่งมีเครื่องมือตรวจวัดรังสีชนิดต่างๆ ให้ทดลองใช้วัดปริมาณรังสีของสารตัวอย่าง พร้อมทั้งมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารรังสีชนิดต่างๆ การป้องกันภัยทางรังสี และสัญลักษณ์ทางรังสีให้รับความรู้กันในฐานนี้

ฐานกิจกรรมรอบรู้เรื่องปรมาณู วัดความรู้รอบตัว เช่น เครื่องแต่งกายแบบไหนที่ไม่ใช้ในการตรวจวัดรังสีโดยตรง ตอบให้ได้ว่าเครื่องหมายทางรังสีที่เห็นเป็นสัญลักษณ์ของรังสีอะไร เป็นต้น และสุดท้าย ฐานกิจกรรมเกมความรู้คู่ความสนุก เช่น เกมชิงหลักซึ่งผู้เล่นเกมต้องแบ่งออกเป็น 2 ทีมๆ ละ 3 คน ให้แต่ละทีมหยิบลูกบอลได้ตั้งแต่ 1-3 ลูกใส่ตะกร้า สลับกันทีมละคน จนลูกบอลหมด แล้วจึงนับคะแนนจากสีลูกบอล เกมต่อภาพนิวเคลียร์ และเกมเปลี่ยนหลัก ซึ่งผู้เล่นต้องแข่งกันเปลี่ยนหลัก โดยย้ายลูกเต๋าที่มีสัญลักษณ์การแผ่รังสีจากหลักหนึ่งไปอีกหนึ่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ภายในงานยังมีแบบจำลองระบบเตือนภัยทางนิวเคลียร์ กิจกรรมออกร้านของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์วิจัยพืชไร่ ชัยนาท สำนักงานวิจัยและพัฒนาข้าว และ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน จากกรมวิชาการเกษตร ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงแสดงสื่อพื้นบ้านสารนิวเคลียร์จากศิลปินพื้นบ้าน และการสาธิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีชมรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางรังสีด้วย

ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมในงาน 50 ปี เปิดบ้านปรมาณู ได้อีกในวันที่ 26 เม.ย.54 ตั้งแต่เวลา 09.00 -16.00 น. ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
เครื่องสำรวจการเปรอะเปื้อนทางรังสี
กิจกรรมจากฐานการตรวจวัดทางรังสีและตรวจสอบการเปรอะเปื้อนสารรังสี โดยให้ผู้เล่นกิจกรรมได้ทดลองการใช้เครื่องมือด้วย
กิจกรรมรังสีมีคู่ ของฐานกิจกรรมไขปริศนาปัญหานิวเคลียร์
 ฐานกิจกรรมเกมส์ความรู้คู่ความสนุก โดยเด็กๆ ต่างเล่นเกมส์ต่อภาพนิวเคลียร์กันอย่างเพลิดเพลิน
เจ้าหน้าที่ได้สาธิตระยะปลอดภัยของการอยู่ห่างจากปริมาณ โดยอธิบายว่าเครื่องวัดตัวนี้จะแสดงให้เห็นว่าหากรู้ว่ามีการแพร่กระจายของรังสีก็ไม่ควรที่จะอยู่ใกล้เพราะจะได้รับปริมาณรังสีที่มาก แต่หากอยู่ระยะไกลก็จะไม่มีผลอะไร
เจ้าหน้าที่ประจำฐานวัฐจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ได้สาธิตการให้ทีมข่าวได้ชมการเล่นกิจกรรมของฐานนี้
ฐาน กิจกรรม Cloud Chamber หรือกิจกรรมที่ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดอนุภาคมูลฐาน ได้จำลองห้องเพื่อใช้สาธิตให้เห็นการเดินทางของรังสีอัลฟา และเบตาในอากาศ
แบบจำลองระบบเตือนภัยทางนิวเคลียร์  ที่ทางปส.ได้มาจัดแสดงในงาน 50 ปี เปิดบ้านปรมาณู
นายอภิชาต คงเพชร นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน กำลังสาธิตระบบการเตือนภัยทางนิวเคลียร์ ว่าหากมีการแพร่กระจายของรังสี ระบบจะส่งสัญญาณมายังเครื่องรับเพื่อส่งเสียงเตือน จากนั้นจะมีหน่วยฉุกเฉินทางรังสีมาตรวจสอบ โดยการเก็บตัวอย่างดิน ตัวอย่างน้ำ ในบริเวณดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น