xs
xsm
sm
md
lg

ปส.เข้มตรวจอาหารจากญี่ปุ่น สั่งระงับหากพบปนเปื้อนกัมมันตรังสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว  กล่าวว่า ทางปส.ได้เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทยที่มีอยู่ในทุกภาคของไทยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งล่าสุดผลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศ ยังอยู่ในระดับปกติ
ปส.ตั้งมาตรการรับมือกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิด เบื้องต้นคุมเข้มอาหารนำเข้าจากแดนปลาดิบ หากพบปนเปื้อนสั่งระงับทันที พร้อมเตรียมจัดฝึกซ้อมระวังภัยสารกัมมันตรังสี นำร่อง “ระยอง” แหล่งอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับแรก

จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 8.9 ริกเตอร์และสึนามิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ที่ผ่านมา และเป็นเหตุให้เกิดระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะ ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จึงได้แถลงถึงการเตรียมความพร้อมกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ทางญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 14 มี.ค.นี้

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้อ้างรายงานของสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (NISA : Nuclear and Industrial Safety Agency) ผ่านทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รวมทั้งหมด 17 โรง โดยมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่อง 13 โรงและหยุดทำการบำรุงอีก 4 โรง และหลังเกิดแผ่นดินไหวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ได้ปิดตัวลงอัตโนมัติ

ปส.ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากไอเออีเอต่อมาในเวลา 00.30 น.ของวันที่ 13 มี.ค.54 ตามเวลาประเทศไทย ถึงการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี ตั้งแต่เวลา 06.30 น. ของวันที่ 12 มี.ค. 54 ถึงเวลา 06.30 น. ของวันที่ 13 มี.ค. 54 แต่การฟุ้งกระจายของสารดังกล่าวได้ฟุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งไม่มีโอกาสฟุ้งกระจายมายังประเทศไทยอย่างแน่นอน

ด้าน น.ส.ศิริรัตน์ พีรมนตรี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู ปส. กล่าวว่า ไทยมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทย 8 สถานี ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ พะเยา อุบลราชธานี ขอนแก่น ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ หากพบว่ากัมมันตภาพรังสีในระดับ 40-50 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมงนั้นแสดงว่ากัมมันตภาพรังสีอยู่ในสภาวะปกติ

อย่างไรก็ดี ค่าการฟุ้งกระจายดังกล่าวยังถือเป็นค่าปกติ โดย ปส.ได้ตั้งค่าการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสีภาพสูงสุดที่ 200 นาโนซีเวิร์ตชั่วโมง หากพบการฟุ้งกระจายถึงค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ทางสำนักงานจะนำน้ำ ดินและฝุ่นมาตรวจวัดค่าการปนเปื้อน แล้วหาแนวทางป้องกันต่อไป

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ปส.ได้เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของไทย ที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคของไทยตลอดเวลา และล่าสุดผลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศ ยังอยู่ในระดับปกติ และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น จะรายงานให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปส.จะเฝ้าระวังการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าอาจมีสารปนเปื้อนทางกัมมันตรังสีจากเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์อันเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว และหากพบว่ามีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน จะแจ้งไปยังสำนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะนำตัวอย่างของสินค้าไปตรวจสอบ หาสารปนเปื้อนดังกล่าว จากนั้นจะทำการสั่งระงับการนำเข้าทันที

พร้อมกันนี้ นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี ปส.เผยว่า จะจัดการฝึกซ้อม หนีภัย เพื่อเตรียมการระวังภัยจากสารกัมมันตรังสี โดยจะให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมด้วย ซึ่งสถานที่แห่งแรกที่จะจัดการฝึกซ้อมคือจังหวัดระยอง เพราะเป็นแหล่งอุตสาหกรรรมและเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากสารกัมมันตรังสี ก่อนที่จะขยายไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ปส.ยังได้ประสานงานกับโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือในส่วนของทีมแพทย์ฉุกเฉินของญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า โดย นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์กู้ชีพนเรนทร และคณะ รวมทั้งหมด 3 คน จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้เตรียมเครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคลเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานของทีมแพทย์

ทั้งนี้ ในฐานะที่ ปส.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการประสานงานกับไอเออีเอตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อม และสามารถให้ข้อมูล หรือให้คำแนะนำกับประชาชนได้ทันท่วงที ทางสำนักงานฯ จึงตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อ ได้ที่

หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินทางรังสี 089-200 6243 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือโทรศัพท์ 02-596-7699 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ www.oaep.go.th
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี (ซ้าย) นายลภชัย ศิริภิรมย์ ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (กลาง) น.ส.ศิริรัตน์ พีรมนตรี ผอ.สำนักสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู (ขวา) ร่วมแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมกรณีการเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ทางญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหว” ในวันที่ 14 มี.ค.54  ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารสำนักงานฯ ชั้น 2 สป.
รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินทางรังสี 089-200 6243 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น