xs
xsm
sm
md
lg

เผยมาตรการเตือนภัยรังสี ไทยตั้งค่าต่ำกว่าระดับอันตรายพันเท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเกิดเพลิงไหม้ ควันโขมง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 มี.ค.54
เผยขั้นตอนเตือนภัยทางรังสีหากถึงระดับ 1 ไมโครซีเวิร์ต จะต้องปิดบ้านแน่นหนา งดใช้ระบบระบายอากาศ ทั้งนี้หากถึงระดับ 1 มิลลิซีเวิร์ต ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ เผยไอโอดีนรังสีแพร่กระจายไกลกว่าซีเซียม นักฟิสิกส์ย้ำไอโอดีนเสถียรใช้ป้องกันไม่ใช่รักษา

ปส.ตั้งเตือนรังสีที่ 200 นาโนซีเวิร์ต ต่ำกว่าค่าปกติมาก

นายกิตติชัย ชินอุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า ทาง ปส.ได้ติดตามและเฝ้าระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด สำหรับในประเทศไทยนั้น มีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทย 8 สถานี ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ พะเยา อุบลราชธานี ขอนแก่น ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ

นายกิตติชัย อธิบายว่า ปกติธรรมชาติจะมีรังสีในอากาศอยู่แล้ว หากพบรังสีที่ 50-100 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถือเป็นค่าปกติมาก โดยสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีของประเทศไทยนั้น ได้ตั้งระดับเตือนภัยไว้ที่ 200 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หากถึงระดับเตือนภัย ทาง ปส.จะเข้าไปเก็บตัวอย่างของฝุ่น น้ำ อากาศ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสารปนเปื้อนสารรังสีต่อไป แต่ระดับเตือนภัยนั้นถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

“การตรวจวัดรังสีแกมม่าในชั้นบรรยากาศนั้น ถือเป็นรังสีที่มีตัวเลข บอกได้ทันทีว่ามีสารเหล่านี้อยู่เท่าไหร่ เป็นการวัดที่ให้ผลรวดเร็ว ส่วนรังสีแอลฟา กับเบต้า นั้นจะต้องเก็บตัวอย่าง ทั้งน้ำ ฝุ่น อากาศ ไปวิเคราะห์ และประมวลผลออกมา แต่เห็นผลช้า เนื่องจากใช้ระยะเวลานาน แต่ทางเรานั้นก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง” นายกิตติชัยอธิบาย

1 ไมโครซีเวิร์ตเข้าบ้านปิดประตู - 1 มิลลิซีเวิร์ตเตรียมอพยพ

ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี เปิดเผยว่า หากวัดระดับรังสีได้มากกว่า 1 ไมโครซีเวิร์ต ถือว่าเป็นระดับอันตราย และมีค่า 1,000 เท่าจากที่ประเทศไทยตั้งค่าระดับเตือนภัยไว้ วิธีการป้องกันคือ ประชาชนต้องหลบอยู่ในที่พักอาศัย ปิดประตู หน้าต่างอย่างแน่นหนา และต้องปิดระบบระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในอากาศเข้ามาที่พักอาศัยได้

จากนั้นรอการแจ้งจากหน่วยงานระงับเหตุฉุกเฉิน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ดี นายกิตติชัย บอกว่า หากสูงขึ้นอีก 1,000 เท่า คือ 1 มิลลิซีเวิร์ต ประชาชนต้องอพยพออกจากบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ ห้ามประชาชน ดื่ม หรือรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี และเมื่อระดับรังสีที่ประเมินได้อยู่ในระดับปกติ ประชาชนต้องระมัดระวังในเรื่องของการเปรอะเปื้อนทางรังสีที่พื้นดิน และอาคารบ้านเรือน

นอกจากนี้ นายกิตติชัย ยังกล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่พบการปนเปื้อนของสารรังสีแต่อย่างใด ทั้งนี้ทาง ปส. ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว จึงอยากให้วางใจได้

Cs-137 แพร่กระจายใกล้กว่า I-131

ทั้งนี้ จากเหตุวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะในประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้เกิดการฟุ้งกระจายของสารไอโอดีน-131 (I-131) และสารซีเซียม-137 (Cs-137) ซึ่งนายกิตติชัย อธิบายว่าไอโอดีน-131 กระจายไปในอากาศได้ไกลกว่า ขณะที่ซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นผงฝุ่นแพร่กระจายในระยะใกล้ ทำให้ไอโอดีน-131 อาจส่งผลกระทบมายังประเทศไทยได้มากกว่าซีเซียม-137

ทางด้าน ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อธิบายว่า ไอโอดีน 131 มีครึ่งชีวิต (half-life) เพียง 8 วัน คือ หากได้รับในปริมาณ 100 กรัม เมื่อผ่านไป 8 วัน สารดังกล่าวก็จะเหลือ 50 กรัม และหากผ่านไป อีก 8 วัน สารตัวนี้จะเหลือในปริมาณ 25 กรัม ซึ่งต่างจากสารซีเซียม-137 ที่มีอายุขัยครึ่งชีวิตถึง 30 ปี

อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของสารกัมมันตรังสีที่ได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ หากได้รับในปริมาณที่มาก อายุขัยของมันก็จะยาวนานมากขึ้น

โปแตสเซียมไอโอไดน์ ใช้ป้องกันไม่ใช่รักษา


นายกิตติชัย กล่าวว่า หากพบว่ามีการฟุ้งกระจายของสารไอโอดีน-131 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี จำเป็นต้องกินไอโอดีนเสถียร หรือ โปแตสเซียมไอโอไดน์ (KI) เข้าไปทันที โดยไอโอดีนเสถียรนี้จะเข้าไปขัดขวางการรับรังสีเบต้าและแกมม่าจากสารไอโอดีนรังสี (I-131) เพื่อไม่ให้ไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์ และสามารถช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ต่อผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวอีกด้วย

ทางด้าน ดร.บุรินทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างกายมีความต้องการไอโอดีนอยู่แล้ว แต่ร่างกายจะแยกไม่ออกว่าเป็นไอโอดีนเสถียร หรือไอโอดีนรังสีจึงรับเข้ามา

เมื่อร่างกายรับไอโอดีนเสถียรจะไม่เป็นอันตราย แต่หากเป็นไอโอดีน-131 ก็จะสลายออกมาเป็นสารรังสี ซึ่งส่งผลอันตรายต่อร่างกาย

“สำหรับการกินไอโอดีนเสถียร หรือโปแตสเซียมไอโอไดด์ ในช่วงที่เกิดการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี จะต้องกินก่อนได้รับไอโอดีน-131 เข้าไป ถือเป็นการป้องกัน ไม่ใช่เป็นการรักษาอย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าหากรับไอโอดีน-131 เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากแล้ว ไอโอดีนเสถียรก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยรักษาได้” ดร. บุรินทร์กล่าวเสริม

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก ปส.ระบุว่า โปแตสเซียมไอโอไดน์เพื่อใช้ป้องกันต่อมไทรอยด์มี 2 แบบคือ ชนิดเม็ดและน้ำ โดยแบบเม็ดมีปริมาณ 65 มิลลิกรัมและ 135 มิลลิกรัม ส่วนแบบน้ำมีความเข้มข้น 65 กรัมต่อมิลลิลิตร

ทั้งนี้ ในการรับประทานไอโอดีนเสถียรไม่ควรรับประทานเกินกำหนด และไม่รับประทานโดยไม่จำเป็น เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง

ส่วนซีเซียม-137 ที่พบกระจายออกมาบริเวณโรงไฟฟ้านั้น ดร.บุรินทร์อธิบายว่า เป็นสารที่ร่างกายไม่มีความต้องการ เมื่อรับเข้ามาจึงมีกระบวนการขับออกมา แต่ยังมีบางส่วนที่ยังสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี

รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
อาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเกิดเพลิงไหม้ (ภาพจากรอยเตอร์)
เจ้าหน้าที่ตรวจวัดปริมาณรังสีเพื่อหาการเปรอะเปื้อนสารรังสี (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น