xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก ARS "ความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่กำลังตรวจวัดปริมาณรังสีจากหนูน้อยที่อพยพมาจากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมา ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 13 มี.ค.54  (Kim Kyung-hoon / Reuters)
"รังสี" แม้ว่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ในการนำมาใช้ก็ต้องระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะหากซึมเข้าสู่ร่างกาย ยิ่งในปริมาณมากและรวดเร็ว จะกลายเป็นพิษร้ายที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายคนหวั่นวิตกอยู่ในขณะนี้ ต่อการรั่วไหลของรังสี ปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม

หลังจากแผ่นดินไหวอย่างหนัก ที่บริเวณชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมาได้รับความเสียหาย กระทั่งโครงสร้างเกิดระเบิด ทำให้เกิดความกังวลต่อกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แม้ว่าในเบื้องต้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งอพยพประชาชน และแจกไอโอดีนป้องกันสารกัมมันตภาพรังสีให้แก่ผู้อยู่โดยรอบแล้วก็ตาม แต่สภาพเตาปฏิกรณ์ที่ขาดระบบหล่อเย็นก็ยังคงสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวโลกไม่น้อย

ทั้งนี้ หาก "รังสี" เกิดรั่วไหลหรือเตาปฏิกรณ์ระเบิด จะส่งผลโดยตรงกับผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ที่จะได้รับรังสีในปริมาณมากในเวลาไม่กี่นาที จนอาจนำไปสู่ "ความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน" (Acute Radiation Syndrome, ARS) หรือที่เรียกกันว่า "พิษจากรังสี" (Radiation toxicity) หรือ "อาการเจ็บป่วยจากรังสี" (Radiation sickness)

ความรุนแรงของอาการนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ร่างกายซึมซับเข้าไป โดยข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แจกแจงถึงข้อบ่งชี้ 5 ประการที่จะนำไปสู่การเกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน ได้แก่

1. ปริมาณรังสี (dose) ที่ได้รับทั่วทั้งร่างกายจะต้องสูง เช่น มีปริมาณสูงกว่า 0.7 เกรย์ (Gy) ทั้งนี้ การได้รับรังสีทั่วร่างกายปริมาณ 0.3 เกรย์ อาจเป็นผลให้มีอาการผิดปกติแสดงเพียงเล็กน้อย

2. รังสีที่ได้รับจะต้องมาจากแหล่งกำเนิดรังสีที่อยู่ภายนอกร่างกาย (external exposure) รังสีที่แผ่มาจากต้นกำเนิดรังสีที่สะสมอยู่ภายในร่างกาย อาจก่อให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลันได้เช่นกัน แต่มีความเป็นไปได้น้อยมาก

3. รังสีที่ได้รับจะต้องเป็นรังสีที่มีพลังงานหรืออำนาจทะลุทะลวงสูง เช่น รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา หรือ นิวตรอน เป็นต้น ซึ่งสามารถทะลุทะลวงผ่านเข้าไปให้รังสีแก่อวัยวะภายในร่างกายได้

4. จะต้องได้รับรังสีทั่วทั้งร่างกาย (หรือโดยส่วนใหญ่ของร่างกาย) ในคราวเดียวกัน

5. การได้รับรังสีจะต้องเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

จากข้อบ่งชี้ดังกล่าวข้างต้น การได้รับรังสีของร่างกายเพียงบางส่วน เช่น ที่แขนหรือขา หรือการรับรังสีของผู้ป่วยในทางรังสีรักษา ซี่งแม้ปริมาณรังสีที่ให้แก่ผู้ป่วยจะสูงมาก (อาจถึง 80 เกรย์) แต่ก็แบ่งการให้รังสีเป็นหลายๆ ส่วนในช่วงเวลาที่กาหนด เช่น 1-2 เกรย์ต่อวัน ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งการได้รับรังสีแบบนี้มีผลในการก่อให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลันได้น้อย

ทั้งนี้ ในส่วนของอาการที่เกิดขึ้น หลังจากได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลันนั้น แบ่งออกได้ 3 กลุ่มอาการ คือ

1. ความผิดปกติอันเกี่ยวข้องกับระบบไขกระดูก (Bone marrow syndrome) หรือ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตเลือด (hematopoietic syndrome) เกิดขึ้นได้เมื่อได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลันทั่วทั้งร่างกายที่ปริมาณรังสี 0.7 เกรย์ โดยอาจปรากฎอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับรังสีปริมาณ 0.3 เกรย์

อย่างไรก็ดี อัตราการรอดชีวิตจะลดลง ถ้าหากปริมาณรังสีที่ได้รับสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ การติดเชื้อและการเสียเลือดอันเนื่องมาจากไขกระดูกถูกทำลาย

2. ความผิดปกติอันเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal syndrome) ความผิดปกติโดยสมบูรณ์ จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสีเฉียบพลันทั่วร่างกายสูงเกิน 10 เกรย์ ส่วนความผิดปกติแบบอ่อนๆ จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสีประมาณ 6 เกรย์

ทั้งนี้ อัตราการรอดชีวิตมีน้อย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและความเสียหายซึ่งไม่สามารถรักษาได้ของระบบทางเดินอาหารเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ เสียสมดุลของน้าและเกลือแร่ โดยผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

3. ความผิดปกติอันเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินโลหิตและระบบประสาทกลาง (Cardiovascular (CV)/Central Nervous System (CNS) Syndrome) ความผิดปกติโดยสมบูรณ์จะเกิดขึ้น ถ้าได้รับรังสีโดยเฉียบพลันทั่วร่างกายสูงเกินกว่า 50 เกรย์ โดยความผิดปกติของระบบ CV และ CNS จะเริ่มปรากฎให้เห็น เมื่อได้รับรังสีสูงถึง 20 เกรย์

เมื่อได้รับรังสีโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 3 วัน อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของระบบการไหลเวียนโลหิตและแรงดันที่สูงขึ้น ภายในโพรง กะโหลก อันเนื่องมาจากการสะสมของของเหลว ที่มีสาเหตุมาจากการบวมหรือการอับเสบของหลอดเลือดและเยื่อหุ้มสมอง (meningitis)

นอกจากนี "ยาฮูนิวส์" ได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญได้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยพยาบาลจากห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฟลอริด้า สหรัฐอเมริกาได้นำข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ มาแบ่งปัน ว่า อาการของความผิดปกติ จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสีเข้าไปแล้ว ทั้งนี้ รังสีจะแทรกซึมเข้าไปตามอวัยวะภายในร่างกาย

อาการหลังจากได้รับรังสีสูงอย่างรวดเร็วจะเริ่มแสดงออกให้เห็นได้ทั้งภายในไม่กี่นาที หรืออาจจะนานอีกหลายวัน ทั้งนี้จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องไม่กี่ชั่วโมง หรือหลายวัน

หลังจากที่อาการเบื้องต้นหยุดไป ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ากำลังจะฟื้นตัว จากนั้นก็จะล้มป่วยลงไปอีก และครั้งนี้ก็จะหนักขึ้น ด้วยอาการไข้ขึ้น หมดแรง หมดความอยากอาหาร อาเจียน และท้องเสีย อาจถึงขั้นชัก และโคม่าในที่สุด ซึ่งอาการขั้นนี้จะอยู่นานเป็นเดือนๆ

ในส่วนของผิวหนังจะค่อยๆ เสื่อมสภาพ เป็นไปได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจจะค่อยๆ เป็นต่อเนื่องไปเป็นปี ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของรังสีที่ได้รับ พร้อมๆ กันนี้ก็จะเกิดอาการพุพอง คัน และเกิดผิวหนังไหม้เหมือนโดนแดดเผาอย่างรุนแรง อีกทั้งจะมีอาการผมร่วงร่วมด้วย

เมื่อหนักเข้าก็จะถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกรณีที่ได้รับรังสีอย่างเข้มในเวลาอันรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน ขึ้นอยู่กับว่าไขกระดูกจะถูกทำลายมากและเร็วแค่ไหน

แม้ว่าจะรอดชีวิตจาก ARS แต่อาการของโรคนี้จะกำเริบได้ในอีก 2 ปีนับจากได้รับรังสี ดังนั้นจึงยังจำเป็นที่จะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนหรือได้รับรังสีเพิ่ม เพื่อลดอาการต่างๆ ที่จะเกิด รวมถึงฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ที่ถูกทำลาย และควบคุมอาการเจ็บปวด

อย่างไรก็ดี การชำระล้างการปนเปื้อนกัมมันตรังสี ถือเป็นกระบวนการขจัดการปนเปื้อนภายนอก อาทิ ซักล้างรังสีออกจากเสื้อผ้า รองเท้า ช่วยลดการปนเปื้อนได้ 90% และการอาบน้ำล้างตัวก็ถือเป็นการช่วยขจัดอนุภาครังสีที่ติดพื้นผิวในในเบื้องต้น

รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่ตำรวจสวมหน้ากากช่วยหายใจ และชุดป้องกันรังสีขณะนำทางให้ประชาชนอพยพออกจากบริเวณใกล้รัศมี 10 ก.ม.จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟููกูชิมา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.54 (REUTERS/Asahi Shimbun)
อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตสายลับรัสเซียที่ได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน เพียง 3 สัปดาห์ก็เสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น