xs
xsm
sm
md
lg

จากฟูกูชิมะ ย้อนกลับมาดูมาบตาพุด อีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานราคาถูก เมื่อเทียบกับพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในระยะยาว โรงไฟฟ้าพลังานนิวเคลียร์ เป็นโรงไฟฟ้าที่สะอาด ไม่สร้างมลภาวะ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน

แต่เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เกิดความผิดพลาด จะเป็นเพราะอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง หรือ เพราะความผิดพลาดของมนุษย์ก็ตามแต่ ความเสียหายที่เกิดขึ้น และการเยียวยาความเสียหายนั้นมีต้นทุนมหาศาล ทั้งต้นทุนซึ่งวัดค่ากันเป็นตัวเงินได้ และต้นทุนที่ไม่อาจะประเมินค่าได้ คือ ผลกระทบต่อชีวิต จิตใจ ความเป็นอยู่ ของผู้คนหลายหมื่นถึงหลายแสนคน

เป็นความเสียหายที่มากกว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลายร้อยหลายพันเท่า เป็นต้นทุน ที่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะได้ประโยชน์มาก หรือน้อย หรือไม่ได้ประโยชน์เลย จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องร่วมกันแบกรับ อย่างไม่มีทางเลี่ยง

แต่กว่าจะรู้ ก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เป็นราคาที่สังคมต้องจ่าย สำหรับ พลังงานต้นทุนต่ำ เพื่อประสิทธิภาพ กำไรสูงสุดของภาคอุตสาหกรรม และความสะดวกสะบสยของขีวิตสมัยใหม่

วิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมา ที่ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จาก แผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิ เป็นอุทธาหรณ์ได้เป็นอย่างดีว่า อีกด้านหนึ่งของ จีดีพี การลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ ผลกระทบต่อชีวิต ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใหญ่เกินกว่าที่สังคมจะแบกรับไหว

เมื่อปี่ที่แล้วนี่เอง ที่การคัดค้าน การลงทุนของนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของภาคประชาชน เพราะไม่ทำตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ที่ให้มีการทำแผนสิ่งแวดล้อม แผนสุขภาพ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ถูกมองด้วยสายตาตำหนิติเตียน จากภาคอุตสาหกรรมว่า ขัดขวาง ความเจริญของประเทศชาติ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นถอนการลงทุนจากประเทศไทย บางคนถึงกับฟันธงว่า นี่คือวิกฤติกาณ์ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อประเทศไทย

การเรียกร้องของภาคประชาชนในครั้งนั้น อยู่บนหลักการ การปกป้องสิทธิของชุมชน ที่ชุมชนของตน และชีวิตของคนในชุมชน อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จำต้องการมีส่วนในการตรวจสอบ ตัดสินใจ และต้องการหลักประกันต่อชีวิต และสุขภาพของตนเอง และครอบครัว
 
เพราะผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการที่โรงงานอุตสาหกรรม จะมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แทบจะไม่ตกอยู่กับชุมชนเลย แต่หากเกิดมีปัญหา เกิดอุบัติเหตุ ที่คาดไม่ถึง ที่ทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายรั่วไหลออกมาสู่ภายนอก ชุมชนจะต้องเป็นผู้รับความเสียหายไปเต็มๆ และความเสียหายบางอย่าง คือ ชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่อาจฟื้นคืนกลับมาเหมือนเดิมเลย

เรามักจะได้ยินว่า เทคโนโลยี่เปลี่ยนไปแล้ว โรงงานสมัยนี้ เทคโนโลยี่สมัยใหม่ มีความปลอดภัยสูง ผู้ประกอบการมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี ในต่างประเทศไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง และไม่ควรมองโลกในแง่ร้าย ตีตนไปก่อนไข้ ปฏิเสธการลงทุนทุกอย่าง

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ที่คนทั้งโลกได้เห็นกับตาตัวเอง เป็นบทเรียนว่า สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสิง่แวดล้อม และชีวิตนั้น แม้จะป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่กว่าจะรู้ อันตรายนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว และต้นทุนความเสียหายนั้นมีค่ามหาศาล

เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา นั้น เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง คือคาดไม่ถึงว่า แผ่นดินไหวจะรุนแรงเกินกว่า 7 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นสมติฐานของการออกแบบระบบป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว คาดไม่ถึงว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แล้ว จะมีสึนามิขนาดยักษ์ตามมา ทำให้น้ำท่วมระบบไฟสำรอง คาดไม่ถึงว่า น้ำจะท่วมเครื่องปั่นไฟดีเซล ทำให้ระบบหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง ไม่มีไฟฟ้าป้อน ทำงานไมได้ ต้องใช้วิธีฉีดน้ำทะเล ไปลดความร้อนของแท่งเชื้อเพลิง แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดการระเบิดของเตาปฎิกรณ์ปรมาณูทีละเครื่องๆ และมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอก จนต้องอพยพประชาชนมากกว่า 2 แสนคนออกนอกพื้นที่
 
เรื่องที่ "คาดไม่ถึง" เหล่านี้ เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องที่มี "ความเป็นไปได้" ที่จะเกิดขึ้น เพราะประเทศญี่ปุ่น นั้นมีแผ่นดินไหว เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ หรือความเสี่ยงที่ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จะได้รับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหว จนเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหล มนุษย์พยายามลดทอนความเป็นไปได้นี้ให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการออกแบบระบบป้องกัน คิดค้นเทคโนโลยี่ความปลอดภัย แต่ไม่ว่าจะมีระบบที่ดีสักเพียงไหน สิ่งที่ไม่ได้หายไปไหนคือ แผ่นดินไหว และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทีเกิดแผ่นดินไหว

ฉันใดก็ฉันนั้น โรงงานอุตสาหกรรม โรงปิโตรเคมี โรงงานผลิตสารเคมี ในนิคมมาบตาพุด หรือในพื้นที่อื่นๆ จำนวนหนึ่ง มีกระบวนการผลิต ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มาตรการป้องกัน เป็นเพียงความพยายามที่จะลดความเสี่ยวเหล่านี้ลงให้มากที่สุด แต่ไม่สามารถทำให้มันหมดไปได้ และไม่สามารถป้องกันไม่ให้สิ่งที่คาดไม่ถึงได้

วิกฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น มีความรุนแรง ความสูญเสีย และมีลักษณะของปัญหา แตกต่างจาก ปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเรามาก แต่อยู่บนวิธีคิดเดียวกันคือ แสวงหาวิธีลดต้นทมุนการผลิตให้ต่ำที่สุด ถ้าจะมีความเสี่ยง ความเสี่ยงนั้นก็ป้องกันได้

ที่เหมือนกันอีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อความเสี่ยงนั้นเป็นจริงขึ้นมา ต้นทุนความเสียหายนั้น มหศาลนัก และผู้ที่ต้องร่วมกันรับภาระความเสียหายคือ สังคมโดยรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น