xs
xsm
sm
md
lg

จีนระงับแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฉินซาน ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียงของจีน ขณะนี้จีนระงับการอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ชั่วคราว เนื่องจากหวั่นภัยพิบัติดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น (ภาพเอเอฟพี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ตัวอย่างภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นฯ ทำให้รัฐบาลจีนสั่งพักการรับรองการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่พร้อมสั่งให้มีการตรวจสอบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอย่างถี่ถ้วน

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อคณะมุขมนตรีจีนประกาศในวานนี้(16 มี.ค.) ว่า จะทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการขยายภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่เดิมกำหนดไว้ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นหนึ่งของแผนการตัดลดการพึ่งพิงพลังงานถ่านหินและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันศุกร์ (11 มี.ค.) ที่ผ่านมาแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถาโถมเข้าใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ของจีนก็ยังยืนกรานว่า จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป

แต่ในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธ(16 มี.ค.) กลับไม่ได้พูดถึงแผนการขยายภาคพลังงานนิวเคลียร์ภายใน 5 ปี ซึ่งได้ระบุแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อย่างน้อย 34 แห่ง โดยรัฐบาลกลางได้อนุมัติการก่อสร้างฯไปแล้ว 25 แห่ง

ในแผนการขยายภาคพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าว จีนมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีกำลังผลิต รวม40,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 โดยจะเป็นส่วนสำคัญของแผนขยายแหล่งพลังงานต่างๆที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิสอันได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ตามแผนฯดังกล่าว จีนได้กลายเป็นชาติที่มีการขยายความสามารถพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก

การชะลอโครงการขนาดใหญ่ที่ระบุไว้ชัดเจนในแผนพัฒนาฯ ถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย ดังนั้นการที่จีนระงับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของตนไว้ชั่วคราว ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้นำจีนวิตกต่อความหวาดกลัวอันตรายจากนิวเคลียร์ของประชาชน

ท่าทีนักวิเคราะห์

นักวิเคราะห์เผยว่า “การตัดสินใจระงับแผนฯ ดังกล่าวในการประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่านั่งเป็นประธานวานนี้ ถือเป็นเวลาที่ประจวบกับการประกาศแผนทบทวนและแช่แข็งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของประเทศตะวันตก เนื่องจากเกิดกระแสหวาดผวาอันตรายจากนิวเคลียร์กระจายไปทั่ว
นักเรียนจีนกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ณ โรงเรียนในมณฑลอานฮุย 17 มี.ค. ขณะนี้กระแสหวาดกลัวภัยจากรังสีแพร่กระจายสู่ประชาชน ทำให้รัฐบาลจีนหันมาทบทวนและระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ชั่วคราว (ภาพเอเอฟพี)
หลิน ปั๋วเฉียง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจพลังงานจีน แห่งมหาวิทยาลัยซย่าเหมิน กล่าวว่า จีนสั่งระงับการไฟเขียวโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นำหน้าหลายประเทศ

ขณะที่ ศาสตราจารย์หู จ้งเหา มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค กล่าวว่า “จีนยังคงมีหนทางที่จะพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย การจัดการ และการสร้างบุคลากรคุณภาพได้เทียบเท่ายุโรป”

จากแถลงการณ์ฯ ระบุว่า จีนจะเข้มงวดการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ พร้อมเร่งเพิ่มแผนระบบความปลอดภัย จะทบทวนแก้ไขและทำให้แผนการพัฒนานิวเคลียร์ในระยะกลางและยาวสมบูรณ์แบบให้ได้

ในเบื้องต้นนี้จีนจะระงับการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ชั่วคราว ขณะเดียวกันก็จะกำหนดแผนด้านความปลอดภัยขึ้นมารองรับ และโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็จะต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน หากมีการก่อสร้างฯ ที่ไม่ได้มาตรฐานฯ จะระงับโครงการฯ ทันที

รัฐบาลยังประกาศด้วยว่า จีนจะมีการตรวจประเมินความปลอดภัยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศ 13 แห่ง ที่ปฏิบัติการอยู่ขณะนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยหายห่วง

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจีนยกกฎหมายการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องตั้งอยู่ห่างจากเขตเมืองและพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น

สำนักข่าวลีกัล เดลี่ เผยวานนี้ว่า ตามกฎหมายนี้ฯ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องตั้งอยู่ห่างจากเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ ถ้าเมืองมีประชากร 10,000 คน ต้องห่าง 5 กม. ถ้ามีถึง 100,000 คน ต้องห่างอย่างต่ำ 10 กม. และไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มแผ่นดินไหวด้วย

ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของจีน จัง ลี่จวิน ได้ออกมายืนกรานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ของจีน ได้ตัดสินใจไปแล้วว่าให้พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ชี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อ่าวต้าย่า ปลอดภัยกว่าฟูกูชิมา
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อ่าวต้าย่า มลฑลก่วงตง ใกล้กับฮ่องกง นักวิเคราะห์เชื่อว่า แม้โรงไฟฟ้าฯ ต้าย่าจะสร้างด้วยเทคโนโลยีรุ่น 2 เช่นเดียวกับฟูกูชิมาของญี่ปุ่น แต่ระบบความปลอดภัยแข็งแรงกว่า (ภาพเอเยนซี)
ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์เผย โรงไฟฟ้าที่อ่าวต้าย่า ในมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ใกล้กับฮ่องกง ออกแบบโครงสร้างดีกว่าโรงไฟฟ้าที่มีปัญหาของญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์หู จ้งเหา แห่งมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค ชี้ว่า “แม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา และต้าย่า จะสร้างจากเทคโนโลยีรุ่น 2 เหมือนกัน แต่โรงไฟฟ้าต้าย่ามีชั้นป้องกันเตาปฏิกรณ์ที่แข็งแกร่งกว่า”

ฮ่องกงห่างจากโรงไฟฟ้าต้าย่า 60 กม. และใช้พลังงานจากที่โรงไฟฟ้าฯ ปล่อยออกมาถึงร้อยละ 70

“กำแพงป้องกันรอบ ๆ เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฯ ต้าย่าสามารถทดแรงดันได้มากกว่าที่ฟูกูชิมา”

โรงไฟฟ้าต้าย่าใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจากฝรั่งเศส มีชั้นกำแพงป้องกันเตาปฏิกรณ์หนาเป็นสองเท่าของฟูกูชิมา ซึ่งใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างของสหรัฐฯ

จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังใช้งานอยู่ 13 แห่ง และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีก 25 แห่ง โดยโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างนี้ใช้เทคโนโลยีรุ่น 3 ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่เกิดในญี่ปุ่นได้
จากฟูกูชิมะ ย้อนกลับมาดูมาบตาพุด	อีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า  ความเจริญ
จากฟูกูชิมะ ย้อนกลับมาดูมาบตาพุด อีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ความเจริญ
เรามักจะได้ยินว่า เทคโนโลยี่เปลี่ยนไปแล้ว โรงงานสมัยนี้ เทคโนโลยี่สมัยใหม่ มีความปลอดภัยสูง ผู้ประกอบการมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี ในต่างประเทศไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ดังนั้นประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง และไม่ควรมองโลกในแง่ร้าย ตีตนไปก่อนไข้ ปฏิเสธการลงทุนทุกอย่าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ที่คนทั้งโลกได้เห็นกับตาตัวเอง เป็นบทเรียนว่า สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตนั้น แม้จะป้องกันอย่างดีที่สุดแล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่กว่าจะรู้ อันตรายนั้นก็เกิดขึ้นแล้วและต้นทุนความเสียหายนั้นมีค่ามหาศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น