กระทรวงวิทย์ฯ ดึง 3 หน่วยงานในสังกัด สวทช.-วว.-อพวช. เปิดคลังความรู้ รวบรวมฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในไทย ที่มีเก็บไว้กว่า 100,000 ข้อมูล มาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท ลงเว็บไซต์ พร้อมขยายความร่วมมือสู่ ทส.-สธ.-ศธ. ใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน
หากพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ไทยถือเป็นประเทศที่มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก และมีความแตกต่างสูง ซึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงได้จัดทำ “ฐานข้อมูลกลางเพื่อรวบรวบข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ” ขึ้นมา โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เพื่อรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 100,000 ชุดข้อมูล จัดทำในรูปแบบเว็บไซต์ และพร้อมเผยแพร่ในเดือน ก.ย.54 นี้
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลกลาง เพื่อรวบรวบข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ในสังกัด วท. ที่มีบทบาทหน้าที่ เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ นั่นคือ สวทช. ที่มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
อีก 2 หน่วยงานคือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างที่พบครั้งแรกในโลก และสถาบันวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) มีการวิจัยและการพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน
ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.54
“ทั้ง 3 หน่วยงานนั้นจะนำฐานข้อมูลที่แต่ละองค์กรมีอยู่แล้ว มาประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท ดูสถานภาพการแพร่กระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธ์” ดร.ทวีศักดิ์ อธิบาย
ดร.สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัย สวทช.หนึ่งในผู้จัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความเห็นว่า การจัดทำฐานข้อมูลให้ออกมาในรูปเว็บไซต์นั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยมาก เพราะฐานข้อมูลนี้ ถือเป็นแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้นที่สำคัญ การดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ หรือการเสี่ยงภัยธรรมชาติต่างๆ นั้น จะต้องต้องมีความเข้าใจกับธรรมชาติให้ดีเสียก่อน
“ข้อมูลเหล่านี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการคาดการณ์ภัยพิบัติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะการปรากฏของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกบางอย่าง สิ่งแวดล้อมที่เคยมีอยู่เปลี่ยนไป จากที่เคยมีก็กลับหายไป หรือเกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนเป็นสัณญาณเตือนภัยทั้งสิ้น” นักวิจัย สวทช.หนึ่งในผู้จัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพอธิบาย
นอกจากนั้น ดร.วีระชีย วีระเมธีกุล รมว.วท.บอกด้วยว่า การทำฐานข้อมูลกลางขึ้นมา จะทำให้มีรูปแบบที่ได้มาตรฐาน สืบค้นได้ง่าย อีกทั้งข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้น มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม
"ข้อมูลดังกล่าว จะเป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น อาทิ การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญฐานข้อมูลนี้ ยังทำให้ประเทศมีแหล่งอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศในเวทีโลกต่อไปได้" รมว.วท.กล่าว
สอดคล้องกับ ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัด วท. ที่บอกว่า การทำฐานข้อมูลนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในบ้านเรา ไม่ให้ชาวต่างชาติมาเก็บตัวอย่าง หาผลประโยชน์ หรือแอบอ้างว่าเป็นของตัวเอง
"เมื่อมีฐานข้อมูลนี้ขึ้นมา จะได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากที่ไหน จึงสามารถนำข้อมูลมาอ้างอิงได้ และเพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป" ปลัด วท.กล่าว
ทั้งนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์จะประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องการวิจัย กับตัวยารักษาโรค ที่สกัดมาจากความหลากหลายทางชีวภาพ และทาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ดูแลในเรื่องของป่าไม้ หรืออุทยานแห่งชาติต่างๆในประเทศไทย เพื่อที่จะร่วมกันค้นหาสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่เพื่อนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูล รวมถึง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อที่จะให้โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ นำฐานข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อประกอบเป็นองค์ความรู้ต่อไปได้.