“สวทช.” เตรียมเปิดอุทยานวิทย์ฯ จัดงาน NAC 2011 ระหว่าง 24 - 26 มี.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” รวบรวมผลงานวิจัยผ่านหัวข้อประชุมกว่า 30 เรื่อง พร้อมจัดโชว์ผลงานกว่า 100 ชิ้น ทั้งนี้ยังมี วิทยากรจากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากจีน พร้อมโชว์ผลงานเด่นอีกเพียบ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศจัดงานประชุมและแสดงผลงานประจำปีของ สวทช. หรืองาน NAC 2011 ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. 2554 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าสำหรับงานประชุมและแสดงผลงานประจำปีของ สวทช. มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจัดแสดงผลงานและโครงการวิจัยที่ สวทช. ได้ดำเนินการ ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการสัมมนา นิทรรศการแสดงผลงาน การเจรจาธุรกิจ และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมุ่งให้เกิดการวิจัยต่อยอดและการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ อธิบายว่า แนวคิดของการจัดงานปีนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เนื่องจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยรับมือภัยพิบัติได้ และนับเป็นความท้าทายของนักวิจัย สวทช. ในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สวทช. ได้สร้างผลงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ ข้าวทนน้ำท่วม ข้าวทนดินเค็ม การวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคระบาดต่างๆ ทั้งในคน สัตว์และพืช ระบบสื่อสารฉุกเฉิน อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เสื้อเกราะกันกระสุน และล่าสุดกับผลงานวัคซีนไข้เลือดออก Dengue เป็นต้น
“ถือเป็นเวทีให้นักวิชาการ และนักวิจัยได้นำเสนอความรู้และผลงานในการรับมือภัยพิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ที่จะช่วยเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของนักวิจัย สวทช. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านหัวข้อการประชุมกว่า 30 เรื่อง และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานกว่า 100 ผลงาน” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
สำหรับผลงานเด่นที่ได้มาจัดแสดงในครั้งนี้ คือ แกรฟีน : วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งนักวิจัย สวทช. ได้เตรียมพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหาร ชุดช่วยหายใจหนีไฟและก๊าซพิษ เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่หาทางออกจากพื้นที่ประสบภัย รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถยืนได้และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ และเทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์ (Rapid Prototyping) สำหรับออกแบบและขึ้นรูปวัสดุฝังใน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 850 ราย ในโรงพยาบาล 77 แห่งทั่วประเทศได้ใช้บริการแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการประชุมเรื่อง Facing Climate Change Impact with Science & Technology: From Urban Flood to Forest Fire โดย Prof. Xing Chen วิทยากรจากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สาธารณรัฐจีน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของไทย รวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีต่างๆ กับภัยพิบัติในหลากหลายรูปแบบ อาทิ แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์และสึนามิ 2011 บทเรียนจากญี่ปุ่น, นวัตกรรมเตือนภัยและแจ้งเหตุภัยธรรมชาติ, เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาโลกใต้ทะเล, เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ, ข้าวทนน้ำท่วม...ทางรอดของชาวนาไทย เป็นต้น
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(รมว.วท.) ยังกล่าวด้วยว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญและมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยรับมือกับปัญหาภัยพิบัติได้ หากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเราจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ รับมือกับภัยธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจน การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ เฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม การก่อการร้าย ตลอดจนการเตือนภัย การป้องกัน และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อีกด้วย