สนช.หนุนส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ เน้นนักวิจัยไทยพัฒนาลดการนำเข้า เสนอภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างแบบมีโควตาพิเศษ ทางด้านแพทย์รามาชี้อนาคต ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องหาทางลดค่ารักษาพยาบาล สร้างอุปกรณ์การแพทย์ได้เองจะช่วยลดต้นทุน แนะนักการเมืองควรใช้เป็นนโยบายหาเสียง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย จัดงานสัมมนา “นวัตกรรมวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์” ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กทม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.54 เพื่อเผยแพร่แนวคิดการผลักดันนวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยสู่ระดับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ดร.วันทนีย์ จองคำ ผอ.ฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช. ได้บรรยายเรื่อง “โอกาสและกระบวนการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์” โดยได้อธิบายว่า โอกาสและกระบวนการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์นั้น เป็นการกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนไทย ในการใช้นวัตกรรมจากผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยของนักวิจัยไทยในการพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศ
อีกทั้ง ยังสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ได้มาตรฐาน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรและผู้ใช้บริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ดร.วันทนีย์ กล่าวว่า แนวทางเหล่านี้จะทำให้ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ตลอดจนมีส่วนส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่การเป็น "ศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub)" ในระดับภูมิภาคได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
"ทางภาครัฐจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ของประเทศไทยในด้านการตลาด คือ จะต้องมีการเข้ามาสนับสนุน ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีโควตาพิเศษ หากมีการประมูล 100 ชิ้น ผู้จดชื่อได้รับการประมูลจะได้ 20% จะทำให้ภาคเอกชนมีกำลังที่จะสามารถผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นต่อไป" ผอ.ฝ่ายส่งเสริมนวัตกรรม สนช.อธิบาย
ต่อมา นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้บรรยายเรื่อง “ก้าวแรก...สู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์” โดยกล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเผชิญวิกฤติผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วน 11% ของประชากร และในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะสูงถึงประมาณ 20% อีกทั้งในปัจจุบันค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ประเทศไทยต้องทำให้เครื่องมือทางการแพทย์ได้มาตรฐาน
“ปัจจุบัน มีการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี และส่งออกเพียงหมื่นกว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้น อีกทั้งมีอัตราการนำเข้าที่ขยายตัวสูงถึง 10-15% นับว่าสูงมาก ภาพตรงนี้จะเห็นได้ว่า อนาคตการรักษาผู้ป่วยจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก” นายแพทย์ฆนัทอธิบาย
ดังนั้น เป้าหมายหลักของการทำอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการรักษา มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และนำงบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศในส่วนอื่นได้อีกด้วย
นายแพทย์ฆนัท อธิบายอีกว่า เพื่อให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ของไทย ทางรัฐบาลจะต้องมาสนับสนุนอีกทาง เมื่อเครื่องมือได้มาตรฐานแล้ว ภาครัฐจะต้องสนับสนุนในเรื่องของการเข้าไปจัดซื้อจัดจ้างอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องไม่มองว่า จะมียอดขายหรือการส่งออกมากขึ้น แต่มองถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีการบริการที่ดีขึ้น มีราคาที่ถูกต้อง และเป็นของคนไทยด้วย โดยเครื่องมือทางการแพทย์นั้น ไม่จำเป็นต้องทันสมัยล้ำเลิศ แต่อยากให้มองถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับมากกว่า
“หากธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ ต่อให้มีความทันสมัยได้มาตรฐานอย่างไร แต่แพทย์ไม่นำมาใช้ก็ไร้ค่า ดังนั้นการสนับสนุนธุรกิจดังกล่าวจึงมีความจำเป็นมาก” นายแพทย์ฆนัท อธิบาย โดยย้ำว่า หากได้รับการสนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างจริงจังจริง คาดว่าประมาณอีก 5 ปี เครื่องมือทางการแพทย์ของไทยจะเข้าสู่ตลาดได้อย่างเต็มตัว
ทั้งนี้ นายแพทย์ฆนัท ได้เสอนแนะว่า อยากให้นักการเมืองนำนโยบายเหล่านี้ไปใช้หาเสียง เพราะประโยชน์ที่ได้จะเป็นของประชาชน ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น รายได้มากขึ้น เกิดความร่วมมือกับต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์อย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย