xs
xsm
sm
md
lg

"มหิดล" โชว์โครงงานวิทย์ผลงาน นศ.ราว 300 ชิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล กล่าวว่าการจัดนิทรรศการในครั้งนี้มุ่งหวังให้นักศึกษาฝึกการนำเสนอ การอธิบาย จนส่งผลให้เกิดความกล้าแสดงออก และช่วยฝึกระบบคิดให้นักศึกษาได้อีกด้วย (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
"มหิดล" จัดนิทรรศการโครงงานวิทย์ ครั้งที่ 12 ของ นศ.ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ราว 300 ชิ้น มุ่งให้กล้าแสดงออก ฝึกนำเสนอผลงาน นักศึกษามองว่าผลงานทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเป็นเรื่องใกล้ตัว

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 12 “The 12 th Science Project Exhibition” เมื่อวันที่ 10 มี.ค.54 บริเวณ ตึกกลม (อาคารบรรยายรวม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ภายในงานมีนิทรรศการของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะวิทยาศาสตร์ทั้งหมดประมาณ 300 โครงงาน

ทั้งนี้ ทีมข่าววิทยาศาตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้สำรวจงาน โดยรูปแบบการจัดนิทรรศการแสดงผลงานได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1.การนำเสนอโครงงานแบบบรรยายตามห้องเรียน และ 2.การนำเสนอแบบโปสเตอร์

การนำเสนอโครงงานแบบบรรยายตามห้องเรียน มีหลายโครงงานที่น่าสนใจ อาทิ การคัดเลือกสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสารต้นเซลล์มะเร็ง การศึกษาทางอนุกรมวิธานของพืชวงศ์ถั่วบางชนิดโดยใช้ลักษณะทางจุลสัณฐานวิทยา และการวิเคราะห์อย่างเป็นลำดับเพื่อการหาปริมาณแคลเซียม และแมกนีเซียมในน้ำเค็ม เป็นต้น

สำหรับ ผลงานที่นำเสนอแบบโปสเตอร์ มีนักศึกษาเจ้าของผลงานยืนประจำบอร์ด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลงานที่พวกเขาได้ทำวิจัยและมีหลายผลงานที่น่าสนใจ อาทิ การศึกษาบทบาทของเชื้อแบคทีเรียชอบเกลือ (Halophilic Bacteria) ในการเกิดสารระเหยในน้ำปลา การศึกษาประสิทธิภาพของการออกกำลังกาย โดยการกระโดดขาเดียวและขาคู่ และ ตัวแกว่งวัดโครนัวร์ (Kronauer) สำหรับจังหวะทางชีวภาพที่ถูกควบคุมด้วยความหนาวเย็น เป็นต้น

ศ.ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ว่า เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา ได้สามารถนำเสนอผลงานวิจัยของตนเองมาเผยแพร่ให้กับประชาคมคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานนิทรรศการในครั้งนี้ และมุ่งหวังให้นักศึกษาฝึกนำเสนอ ฝึกการอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายขึ้น จนส่งผลให้นักศึกษาเกิดความกล้าแสดงออก ตลอดจนเป็นการฝึกระบบคิดให้นักศึกษาได้อีกทางหนึ่ง

นายณัชพล ปุญญะยันต์ หรือ กอล์ฟ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมีหลักสูตรพิสิฐวิธาน กล่าวว่า เรื่องของวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเพราะผลงานหลายชิ้นที่ได้นำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องการผลิตพลังงานทางเลือกจากก๊าชไฮโดรเจน และผลงานวิจัยดังกล่าวนี้หากไปต่อยอดพัฒนาได้จริง ถือเป็นการเตรียมตัวสำหรับภาวะการขาดน้ำมันในตลาดโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน

นางสาวจิราวัส สอนคม หรือ จิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “หลายคนอาจมองว่าเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมาก หากทุกคนได้มาศึกษาและชมนิทรรศการนี้ จะเห็นได้ว่าเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำการวิจัยนั้นเป็นการนำแนวคิดมาจากเรื่องใกล้ตัวเรานี้เอง”
นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพกำลังอธิบายผลงานของตนให้ผู้ที่สนใจได้รับฟัง เพื่อเป็นการฝึกการสื่อสารในเรื่องที่ยากให้เข้าใจง่ายมากขึ้น
ภายในงานนิทรรศการต่างมีนักศึกษา และผู้ที่สนใจมาร่วมชมกันจำนวนมาก
นางสาวนันท์นลิน เห่งรวย หรือ แอมป์ หนึ่งในนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้นำเสนอผลงานการศึกษายุงในสกุล Armigeres พาหะนำพยาธิฟิลาเรีย ในป่ายางพารา จ.กาญจนบุรี
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเองเพื่อมาเผยแพร่ให้กับประชาคมคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานนิทรรศการในครั้งนี้
บรรยากาศของการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ จะมีนักศึกษาเจ้าของผลงานยืนประจำบอร์ด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลงานที่ตนเองได้ทำการวิจัย
นิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 12 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
ผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการได้สนใจชมผลงานของภาควิชาชีววิทยา
บรรยากาศการลงทะเบียนบริเวณ ตึกกลม (อาคารบรรยายรวม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
การเข้าร่วมฟังการนำเสนอโครงงานแบบบรรยายตามห้องเรียนในหัวข้อการใช้ HKUSE-1 เป็นแม่แบบระดับนาโนสำหรับสารประกอบอะลาเนทของโลหะลิเธียมและโซเดียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บแก๊สไฮโดรเจน (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
นางสาวจิราวัส สอนคม เจ้าของผลงานการคัดเลือกและศึกษาโครงสร้างของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียจากแอกทิโนมัยซิส (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
นายณัชพล ปุญญะยันต์ หนึ่งในนักศึกษาภาควิชาเคมี หลักสูตรพิสิฐวิธานกำลังนำเสนอผลงานการใช้ HKUSE-1 เป็นแม่แบบระดับนาโนสำหรับสารประกอบอะลาเนทของโลหะลิเธียมและโซเดียม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บแก๊สไฮโดรเจน (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
บรรยากาศของการนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.มหิดล
รูปแบบการจัดนิทรรศการแสดงผลงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การนำเสนอโครงงานแบบบรรยายตามห้องเรียน และ 2.การนำเสนอแบบโปสเตอร์
นักศึกษาต่างมองว่าผลงานทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว
นิทรรศการครั้งนี้ทำให้นักศึกษาได้ฝึกการสื่อสารเพื่อนำเสนอผลงาน จนทำให้เกิดระบบคิดที่ดี (ภาพโดย ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา)
นางสาวฉัตรสุชล คุ้มถนอม หรือ กิ๊ฟ นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ  เจ้าของผลงานการคัดเลือกสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสารต้านเซลล์มะเร็ง
การจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีโครงงานของนักศึกษาราว 300 ชิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น