xs
xsm
sm
md
lg

มวล.ออกแถลงการณ์เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นครศรีฯ ออกแถลงการณ์เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แนะพัฒนาไฟฟ้าทางเลือก-เผยขีดวง ม.2 ต.ท่าขึ้นผู้กว้างขวางรวบที่ดินได้แล้ว 200 ไร่ แฉ ขรก.ระดับบิ๊กประเทศไทยดอดไปสัมปทานเหมืองถ่านหินอินโดฯเตรียมรอส่งขาย กฟผ.

วันนี้ (28 ก.พ.) ความเคลื่อนไหวของการแสดงเหตุผลคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มในการผนึกกำลังในการคัดค้านเข้มแข็งขึ้นตามลำดับทั้งในส่วนของมวลชน เครือข่ายชุมชน เครือข่ายประมงพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งนครศรีธรรมราช เครือข่ายนักวิชาการและนักศึกษาสถาบันการศึกษาชั้นนำของนครศรีธรรมราช ได้ทยอยแสดงจุดยืนถึงการไม่สนับสนุนและต่อต้านการเข้ามาของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอย่างต่อเนื่อง

โดยในความเคลื่อนไหวดังกล่าวนอกจากเครือข่ายนักวิชาการแล้วยังมีการแสดงจุดยืนออกมาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชน” โดยมีภาคีสามฝ่าย คือ พนักงาน นักศึกษา และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวเรื่อง คัดค้านและไม่สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อำเภอท่าศาลาและหัวไทร ฉบับที่ 1

เนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวได้ระบุว่า ด้วยอำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และอุตสาหกรรมที่สืบเนื่อง และได้มีความพยายามจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอท่าศาลา และขนาด 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอหัวไทร อีกทั้งมีความพยายามผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อำเภอสิชล หรืออำเภอขนอมในขนาด 1,000 เมกะวัตต์ อีก 1 โรง

“บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเขตนิคมอุตสาหกรรมามาบตาพุดจังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลบกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม วิถีความเป็นอยู่ที่ดีพร้อม ความอุดมสมบูรณ์ทั้งทะเล แผ่นดิน ภูเขาของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะถูกทำลาย ชุมชน ภูมิปัญญา วัฒนธรรมที่สืบทอดมากว่า 1 พันปีจะล่มสลายลงไปในระยะเวลาอันสั้นและรวดเร็ว”

“เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชนในฐานะกลุ่มบุคคลทางวิชาการ จึงขอประกาศคัดค้านและไม่สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และไม่สนับสนุนพื้นที่นครศรีธรรมราชเป็นเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หากจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือประเทศไทยมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขอสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกที่ไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์”

เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชนขอเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินทั้งหมดของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใน 15 มีนาคม 2554 และดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหายเช่นความขัดแย้งภายในชุมชนที่เกิดจากการทำงานช่วงที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระดับสูงภายใน กฟผ.รายหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้แม้ว่ากระบวนการในพื้นที่จะยังไม่ชัดว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แต่โดยการทำงานเชิงลึกนั้นมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอท่าศาลา มีการขีดวงไว้ที่ ม.2 ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา มีความเคลื่อนไหวถึงขั้นของการรวบรวมพื้นที่ได้แล้วถึงราว 200 ไร่ โดยเครือญาติคนหนึ่งของคน กฟผ.ที่มีความกว้างขวางอยู่ในพื้นที่ ทั้งหมดเพื่อเตรียมไว้สำหรับการจัดซื้อเข้าโครงการ

“ส่วนการทำงานในพื้นที่ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงได้เรียกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกลับเข้าส่วนกลางหลายราย สืบเนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานมวลชนที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ปล่อยมีผู้บริหารรายหนึ่งทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่ แต่โดยความเป็นจริงนั้นปัญหาหลักของ กฟผ.คือคนทำงานในพื้นที่ที่ไม่มีความเข้าใจงานด้านมวลชน บริหารงบประมาณจำนวนมากทำได้แค่เพียงแจกจ่ายตามที่มีการร้องขอหรือเห็นควรว่าจะแจกจ่ายสนับสนุน หรือโครงการต่างๆ ภายในแผนงานเท่านั้น สิ่งที่เป็นผลกลับมาจึงกลายเป็นแรงต้านที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.หารู้ไม่ว่าการทำการทำงานแบบนี้ไม่มียุทธศาสตร์เลยเป็นการสร้างเสริมมวลชนและแรงต้านให้กับฝ่ายคัดค้านโครงการมากขึ้นทุกวัน”

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือเรื่องของถ่านหิน ในขณะที่พื้นที่เป้าหมายยังหาคำตอบให้กับชาวบ้านไม่ได้ว่าพื้นที่กองถ่านหินจำนวน 1.7 แสนตัน ที่ใช้หมดภายใน 1 สัปดาห์นั้นจะกองตรงไหน ฝนตกจะทำอย่างไร ฝุ่นที่ลำเลียงมาจากเรือผ่านสายพานมายังจุดกองจะทำอย่างไร หาคำตอบให้กับชาวบ้านยังไม่ได้ ขณะที่เรื่องของผลประโยชน์ก้าวไปไกลแล้ว มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงหนึ่งที่มีอำนาจกว้างขวางในประเทศไทย ไปสัมปทานเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะส่งมาขายได้แล้วรอเพียงการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นเท่านั้น ขอให้ผู้ที่ตรวจสอบนั้นจับตาดูให้ดีเรื่องนี้ยังมีความซับซ้อนอีกมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น