xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชภัฏนครฯยุติรับเศษเงินกฟผ. ล้มวิจัยหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การกระทำของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ไปรับจ้าง กฟผ.ดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทร
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านกว่า 300 คนผนึกสมาพันธ์นักศึกษาบุก ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช จี้ให้อธิการบดียุติการสนับสนุนให้นักวิชาการในสังกัดไปรับจ้าง กฟผ.ดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทร ชี้เป็นการขัดกับปณิธานของสถาบันที่ประกาศว่า “ประทีปถิ่น ประเทืองไทย” แถมค่าจ้างที่ได้รับเป็นเพียงเศษเงินแค่ 4.4 แสนบาท สุดท้ายจบลงด้วยสถาบันการศึกษายอมทำตามข้อเสนอยุติการทำวิจัยที่ทำไปได้เพียงขั้นเริ่มต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเครือข่ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 300 คน นำโดยนายครองศักดิ์ แก้วสกุล นายประยุทธ วรรณพรหม นายสมิง พัฒนานนท์ และนายประเสริฐ คงสงค์ เดินทางจาก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ไปสมทบกับกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำโดย น.ส.ศิริสกุล คีรีรัตน์ เพื่อประท้วงและยื่นหนังสือต่อ รศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดี กรณีที่มีนักวิชาการจากสถาบันไปรับจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำวิจัยทัศนคติของประชาชนในพื้นที่ อ.หัวไทร ต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน

นายครองศักดิ์ แก้วสกุล แกนนำเครือข่ายค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร เปิดเผยว่า วันนี้มีนักวิชาการบางคนของมหาวิทยาลัยกระทำตัวขัดกับปณิธานของสถาบันที่ว่า “ประทีปถิ่น ประเทืองไทย” แต่กลับไปรับใช้ กฟผ.ในการสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ อ.หัวไทร ทั้งที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการต่อต้านจากผู้คนมาทั่วโลก พร้อมแสดงตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่เสียเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียเกียรติภูมิของสถาบันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น จึงขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชพิจารณาดำเนินการคือ 1.ขอให้ชี้แจงที่มาที่ไปในการส่งนักวิชาการไปดำเนินการงานวิจัยในพื้นที่โดยรับทุนของ กฟผ. และมีความเกี่ยวข้องใดกับทางมหาวิทยาลัย 2.ขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และ 3.ข้อเสนอทั้ง 2 ข้อต้องมีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรและเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ

ด้าน น.ส.ศิริสกุล คีรีรัตน์ แกนนำสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การมารวมตัวกันครั้งนี้เพื่อทวงถามคำตอบจากอธิการบดี และขอร้องให้ทางมหาวิทยาลัยยุติสัญญาที่ทำร่วมกับ กฟผ.เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการโครงการดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และในส่วนของนักศึกษาเองก็ไม่เห็นด้วยเลยต่อบทบาทและการกระทำของมหาวิทยาลัยในกรณีนี้ เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติโครงการเหล่านี้ทันที

“มีอาจารย์บางคนบอกพวกเราที่เป็นนักศึกษาว่า ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พวกเราก็คือลูกหลานของพี่น้องประชาชนด้วย เมื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนของเราเดือดร้อน พวกเราซึ่งได้รับการส่งเสียจากพ่อแม่พี่น้องของเราให้มาเรียนที่นี่ พวกเราก็ต้องออกมาทักท้วง เพราะพวกเราเองก็อยู่ในพื้นที่และจะได้รับผลกระทบไม่ต่างจากพ่อแม่พี่น้องของพวกเรา และวันนี้ไม่ได้มีแต่พวกเราที่มาทวงถามคำตอบจากอธิการบดี แต่พ่อแม่พี่น้องของพวกเราก็ได้เดินทางมาจาก อ.หัวไทร เพื่อร่วมฟังคำตอบจากอธิการบดีร่วมกับพวกเราด้วย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่สถาบันของเรา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของท้องถิ่นควรที่จะแสดงจุดยืนเคียงข้างพี่น้องที่จะได้รับผลกระทบกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

ขณะที่ รศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนเพียง 4.4 แสนบาท ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน โดยมหาวิทยาลัยตั้งใจเข้าไปมีส่วนดูแลในด้านวิชาการเพื่อความสุข แต่ถ้าเกิดความทุกข์ก็ไม่ควรทำ ที่มหาวิทยาลัยเข้าไปนั้นมี 2 ส่วนคือ ด้านวิชาการหรือด้านเทคนิค และอีกส่วนคือด้านความรู้สึกของประชาชนซึ่งจะต้องชัดเจน

“โครงการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมทำว่าด้วยเรื่องโครงการไฟฟ้าถ่านหิน เป็นการสำรวจทัศนคติที่มีต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.หัวไทรเท่านั้น เป็นการสำรวจทัศนคติผลที่ออกมาไม่ว่ายอมรับหรือปฏิเสธจะเป็นตัวเลขจริง ถ้าไม่ยอมรับ กฟผ.อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานลมมาแทนก็ได้” รศ.ฉัตรชัยกล่าวและว่า

งานที่สถาบันรับทำเป็นการวางแผนสำรวจเท่านั้น อาจเป็นเพราะผู้นำชุมชนหรือผู้ที่ทราบข่าวยังไม่ได้รับคำชี้แจง จึงเกิดความวิตก เกิดปฏิกิริยาเข้าใจว่า ประชาชนกลัวในเรื่องของสุขภาพและมลพิษ จึงคัดค้าน จริงๆ แล้วไม่ได้แปลความว่ามหาวิทยาลัยไปยืนกับ กฟผ. แต่เพื่อความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วมาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไม่โน้มเอียงเท่านั้น บวกเราจะบอกว่าบวก ถ้าลบเราจะบอกว่าลบเท่านั้น

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยเกรงว่าจะเกิดปัญหาก่อให้เกิดความยุ่งยาก จึงได้ยุติโครงการไปหมดแล้ว โครงการทั้งหมดมี 5 ขั้นตอน ได้เริ่มต้นไปแค่ขั้นที่ 1 เท่านั้น เราได้ยกเลิกโครงการทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว โดยการแจ้งไปที่ กฟผ.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งทางโทรสารและทางไปรษณีย์ โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ และอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ จึงยกเลิกสัญญา และพร้อมที่จะเป็นหลักที่สำคัญให้กับประชาชน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเดินทางมาประท้วงของเครือข่ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทรของชาวบ้านที่ร่วมกับนักศึกษาในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรและประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก โดยมีขบวนแห่กลองยาวนำหน้า แล้วมีการชูป้ายข้อความคัดค้านต่างๆ โดยเคลื่อนขบวนไปทั่วมหาวิทยาลัยก่อนที่จะไปเปิดเจรจากับอธิการบดีบริเวณด้านหน้าอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามหลังจากที่อธิการบดีชี้แจงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมทราบโดยยินยอมตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมทุกประการ รวมทั้งชี้แจงการยกเลิกโครงการด้วย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจและสลายตัวไปในที่สุด

สำหรับความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับ กฟผ.ต่อกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทร ดำเนินมาอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 โดย กฟผ.มีความพยายามจัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด แต่ถูกฝ่ายชาวบ้านคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้มีความพยายามดึงแกนนำชุมชนและใช้เงินหว่านลงในพื้นที่ อ.หัวไทร จนสร้างความแตกแยกในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น