xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหัวไทรล้มเวทีประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวหัวไทรเดือด ล้มเวทีประชาสัมพันธ์การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ย้ำต้องฟังเสียงคนในพื้นที่บ้าง กลุ่มคัดค้านประกาศยืนยันยังคงเดินหน้าให้ความรู้ แก่นักวิชาการเหล่านี้ต่อไป เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ห้องประชุมโรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านกว่า 500 คน ได้เข้าร่วมคัดค้านในเวทีประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชของนายปัญญา เลิศไกร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และเป็นวงประชุมปิด ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีส่วนร่วม และไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น

นายประเสริฐ คงสงค์ ประธานอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ชาวบ้านมารวมกันและไม่ยอมรับเวทีที่จัดขึ้นในวันนี้ เพราะต้องการยับยั้งการทำวิจัยที่อ้างว่า เพื่อประสานความขัดแย้งใน ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร เนื่องจากเป็นเวทีที่หมกเม็ด และเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพียงด้านเดียวของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลด้านดี แต่ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่กลับไม่มีการให้ข้อมูลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การลงมาในพื้นที่ของ นายปัญญา เลิศไกร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นการมาทำข้อมูลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ กฟผ.ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยที่คนในพื้นที่ไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนที่นี่เองก็ได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วว่า ไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่หน่วยงานเหล่านี้ ยังไม่ยอมหยุดและพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะยัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้กับคนที่นี่

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับตน นักวิชาการที่ดีตามเจตนารมณ์ของการเป็นนักวิชาการควรจะเป็นแม่แบบ เป็นแม่พิมพ์ที่คอยให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อดำรงรักษาวิถีชีวิตที่ดีงามของคนในท้องถิ่น ช่วยปกป้องทรัพยากรของท้องถิ่น บทบาทของนักวิชาการควรทำงานเพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มารับจ้าง กฟผ.เพื่อมาบิดเบี้ยวข้อมูลแบบนี้ นี่ไม่ใช่ศักดิ์ศรีของนักวิชาการ

“ตอนนี้ชาวบ้านรู้ทันเล่ห์กลโกงของ กฟผ.หมดแล้ว อย่ามาหลอกชาวบ้านอีกเลย ที่ผ่านมาการเข้ามาในพื้นที่ของหน่วยงานเหล่านี้สร้างความเสื่อมเสียและความแตกแยกให้แก่คนในชุมชนมากพอแล้ว อย่างเวทีวันนี้คนที่เขาเชิญไปคือคนที่ กฟผ.เตรียมไว้แล้ว แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเขาไม่บอกว่าจะมีเวทีวันนี้ โชคดีที่พวกเราคอยติดตามข้อมูลตลอดเวลาถึงได้รู้ว่ามีการเปิดเวทีอย่างหมกเม็ดขึ้น วันนี้เรามาเพื่อพูดให้ฟังอีกชัดๆ ว่า เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราไม่เอามลพิษหรือโครงการอื่นๆ ที่จะเข้ามาล้างผลาญทรัพยากรที่นี่ เราไม่เอา และที่สำคัญการเข้ามาของหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ก็ควรจะบอกแก่คนในพื้นที่บ้าง ไม่ใช่แอบๆ หลบๆ มาทำแบบนี้”

ด้านนายดนรอหาด หมีคง ประธานกลุ่มประมงเกาะเพชรพัฒนาอนุรักษ์ประมงชายฝั่ง อ.หัวไทร กล่าวว่า ตนไม่เคยทราบข่าวมาก่อน ว่า จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบนี้ เพราะเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แบบที่คนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีการจัดเวทีแบบนี้ขึ้น เท่าที่ฟังดูก็เป็นเวทีที่รณรงค์ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเดียว ทั้งที่เราบอกแล้วว่าเราจะไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจึงไม่ยอมรับเวทีที่ไม่ชอบธรรมแบบนี้โดยเฉพาะที่ อ.หัวไทร อย่างที่ ต.เกาะเพชร ที่นี่ พวกเราทำธนาคารปู อนุรักษ์พันธุ์ปูซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นแหล่งอาหารเป็นที่ทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์เราจึงยอมให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมาทำลายวิถีชีวิตของพวกเราไม่ได้ เรายอมให้สร้างไม่ได้

นายดนรอหาด กล่าวต่อว่า 90% ของคนที่นี่ทำอาชีพประมง ชาวประมงทั้งหมดที่นี่ไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราอยู่แบบสบาย เราอยู่อย่างสมบูรณ์แบบตามวิถีชาวประมงของเราอยู่แล้ว เราไม่ต้องการสิ่งที่ กฟผ.เรียกว่าความเจริญแบบที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราไม่เอา เราไม่ต้องการ ที่สำคัญเวทีนี้จัดขึ้นโดยพลการ เราไม่ชอบให้มาลักลอบทำกันแบบนี้เราชัดเจนแล้วว่าเราอยากคงความเป็นวิถีชาวเลแบบของเราต่อไป เราไม่ต้องการถ่านหิน

ส่วน นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตลอด ตั้งแต่ที่มาบตาพุด พอจะสร้างที่บ่อนอก หินกรูด จ.ประจวบฯ ก็โดนไล่มา และเมื่อจะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กฟผ.ก็ใช้วิธีการทำให้ชุมชนแตกแยก โดยการแทรกแซงเข้ามา บางทีก็เข้ามาในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอาเงินไปหว่านจัดงานประเพณี

ชาวบ้านบอกแล้วว่าเราไม่ต้องการเงินที่เอามาฟาดหัวกันแบบนี้ แต่ กฟผ.ก็ยังดื้อแพ่งไม่ฟังเสียงชาวบ้าน กฟผ.ให้ความรู้ชาวบ้านด้านเดียว ให้ข้อมูลแต่ด้านดีๆ บอกแต่ว่าจะมาสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น มีงานทำ จะสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งที่ชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องการ คนที่นี่ มีชีวิตที่มีความสุข ตามวิถีทางที่เราเป็นอยู่แล้ว เราไม่ต้องการการพัฒนาที่มาพร้อมการทำลายวิถีที่งดงามของพวกเรา เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาพร้อมมลพิษและมาเพื่อผลาญทรัพยากรเรา ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริงคงไม่โดนคนที่บ่อนอก หินกรูด จ.ประจวบฯไล่ออกนอกพื้นที่หรอก ยิ่งที่ อ.หัวไทร คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง พวกเราไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะก่อมลพิษ สร้างผลกระทบแก่สัตว์ในทะเล พวกเรายอมไม่ได้ เพราะมันเท่ากับทำลายวิถีของพวกเรา

นายครองศักดิ์ กล่าวต่อว่า กฟผ.บอกว่าวันนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ แต่ชาวบ้านที่มีส่วนได้รับผลกระทบกลับไม่มีใครทราบเลย พอชาวบ้านถามก็อ้างว่าแค่มาให้ความรู้และสอบถามความคิดเห็นเฉยๆ แต่ถ้ามาสอบถามความคิดเห็นชาวบ้านจริง ทำไมคนในพื้นที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม ทำไมไม่มีการบอกกล่าวกันก่อนมาทำเวทีแบบนี้ ชาวบ้านที่นี่ทุกคนควรมีสิทธิในการรับฟัง และควรได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่มาหลบๆแอบๆทำกันแล้วก็บอกว่าชาวบ้าน เห็นด้วย สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ แบบนี้มันขี้โกง และพวกเราก็จะทำหน้าที่คัดค้านต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ชาวบ้านกว่า 500 คนที่ทราบข่าวเวทีการทำประชาพิจารณ์ เดินทางไปถึงสถานที่การจัดเวทีดังกล่าวที่ โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช นายปัญญา เลิศไกร อาจารย์จากมหาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นหัวหน้าทีมจัดเวทีครั้งนี้ อ้างกับชาวบ้านว่า ต้องการมาทำวิจัยเพื่อประสานความขัดแย้งใน ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร แกนนำชาวบ้านที่เดินทางมาร่วมเวทีจึงบอกว่าถ้าไม่มีนักวิชาการขายตัวและ กฟฝ.ที่คอยจ้องแต่จะทำลายทรัพยากรในพื้นที่ ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น

นอกจากนี้ ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินยังได้ขอร้องให้ นายปัญญา เลิศไกร ซึ่งมาในบทบาทของนักวิชาการให้ฟังเสียงชาวบ้านบ้าง ทำให้นายปัญญา เลิศไกร ซึ่งกำลังจะเดินทางกลับทันทีที่กลุ่มผู้คัดค้านมาถึงต้องนั่งอยู่ต่อในหอประชุม และในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านได้ชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน นายปัญญา เลิศไกร ไม่มีท่าทีในการสนใจรับฟังแต่อย่างใด จนกลุ่มคัดค้านเกิดความไม่พอใจ และตะโกนให้ออกไปจากพื้นที่ทันที นายปัญญา เลิศไกร จึงรีบเดินออกจากห้องประชุมไปแต่ยังคงอยู่ในพื้นที่จัดเวที กลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงยื่นข้อเสนอว่าหากนายปัญญา เลิศไกร เดินทางกลับมหาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชไม่ถูก พวกตนก็ยินดีจะเดินทางไปส่ง

ต่อมา นายปัญญา เลิศไกร และทีมงาน จึงได้ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปส่งมหาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในที่สุด สร้างความโล่งใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยหลังจากนายปัญญา เลิศไกร เดินทางออกนอกพื้นที่ไปแล้ว กลุ่มผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้หารือกันก่อนแยกย้าย ว่า จะยังคงเดินหน้าให้ความรู้ แก่นักวิชาการเหล่านี้ต่อไป เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่



กำลังโหลดความคิดเห็น