รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานราชการ รัฐ รัฐวิสาหกิจ ก่อนการอนุญาต หรือเตรียมการโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต และมีสิทธิแสดงความคิดเห็น อีกทั้งตามมาตรา 87 ยังระบุถึงการที่รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและบริการสาธารณะ
การเข้าไปเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 2 แห่งใน อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากคนในพื้นที่ เพราะมีบทเรียนเป็นที่ประจักษ์แล้วทั้งที่มาบตาพุด จ.ระยอง และที่แม่เมาะ จ.ลำปาง
กฟผ.เปิดฉากรุกด้านประชาสัมพันธ์ผ่านเหลือบไรในท้องถิ่นด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่นำไปติดตั้งไว้ใน 2 อำเภอมีข้อความชี้แจง 6 ขั้นตอนการทำงานคือ 1.ศึกษาภูมิประเทศเบื้องต้น 2.ให้ความรู้ชุมชน 3.ประเมินความคิดเห็นชุมชน 4.ประกาศซื้อที่ดิน 5.ศึกษา EIA และ HIA โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 6.ขออนุมัติจาก ครม.
แม้ข้อชี้แจงเหล่านี้จะดูดี แต่ในการปฏิบัติจริงกลับมากมายไปด้วยข้อกังขาของผู้คนในชุมชน แถมบุคลิกที่ทะเล่อทะล่าของคน กฟผ.บางคนกลับเป็นการเพิ่มแรงกระเพื่อมของคลื่นแห่งความเข้าใจเสียด้วยซ้ำ
สิ่งนี้พิสูจน์ได้จากกรณี กฟผ.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ศึกษาวิจัยประเมินความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย แต่แค่นักวิชาการลงพื้นที่ได้ไม่นานก็ปรากฏแรงต่อต้านถาโถมเข้าใส่อย่างหนัก แถมเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายร้อยคนก็ได้ประสานมือกับนักศึกษาบุกไปยื่นเรียกร้องกดดันต่อผู้บริหารสถาบันแห่งนี้ให้เลิกรับเศษเงินจาก กฟผ.
ในวันนั้นนายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกต่อหน้า รศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาที่ชี้ให้เห็นว่าการกระทำของสถาบันขัดต่อปณิธานที่ตั้งไว้คือ “ประทีปถิ่น ประเทืองไทย” แถมนักวิชาการในสังกัดยังทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับชุมชนเองเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชก็ได้แสดงท่าทียอมรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ด้วยการประกาศว่าสถาบันจะยุติการดำเนินงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาใดๆ ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ทุกกรณี
“ที่มหาวิทยาลัยรับศึกษาเพราะต้องการเข้าไปมีส่วนดูแลในด้านวิชาการ และก็ไม่ได้ยืนอยู่ข้าง กฟผ. แต่ต้องการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน หากข้อมูลออกมาเป็นบวกก็ต้องบอกว่าบวก ถ้าเป็นลบก็ต้องยืนยันว่าลบ วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อความสุขของชุมชน แต่ถ้าจะเกิดความทุกข์ก็ไม่ควรทำต่อไป”
มีการยืนยันว่า หลังจากนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชก็ได้ทำหนังสือขอบอกเลิกสัญญาไปยัง กฟผ. เพื่อยุติการศึกษาวิจัยประเมินความคิดเห็นของชุมชนต่อการจะเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายนิรันดร์ มามี วิศวกร 8 ของ กฟผ.จึงต้องออกมาอธิบายว่า ที่มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชดำเนินการ เพราะเห็นว่ามีความเป็นกลาง เมื่อถอนตัวไป กฟผ.ก็ต้องกลับไปถามประชาชนว่า ต้องการสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานใดที่ไว้ใจมาทำแทน
“เท่าที่มีการแสดงความคิดเห็นกลับมาแล้วก็มี เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกนั้นก็มีอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งยังไม่ได้เจาะจงว่าเป็นหน่วยงานใด” นายนิรันดร์ระบุ
ทว่า ณ เวลานี้กลับมีข้อมูลที่ยืนยันชัดแจ้งว่า แทนที่ กฟผ.จะกลับไปถามประชาชนในพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมๆ กับให้เสนอสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่พวกเข้าเชื่อมั่นว่าเป็นกลางมารับทำหน้าที่ศึกษาวิจัยต่อจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กฟผ.กลับดำเนินการตรงกันข้ามกับที่คนของตัวเองให้คำมั่นไว้
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่เปิดเผยจากคนวงในของ กฟผ.เองระบุว่า ภายหลังจากที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชบอกเลิกสัญญา ก็ได้มีการทาบทามนักวิชาการทีมเดิมในสถาบันดังกล่าวให้ดำเนินการต่อในนามส่วนตัว พร้อมๆ กับให้วงเงินสำหรับการศึกษาวิจัยมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากหลักแสนบาท กลายเป็นหลายล้านบาทอีกด้วย
สำหรับเหตุผลที่ กฟผ.ต้องการให้นักวิชาการทีมเก่าศึกษาต่อ ก็เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ให้เสียเวลาล่าช้าเนิ่นนานออกไป ส่วนที่ต้องเพิ่มวงเงินศึกษาวิจัยจากหลักแสนเป็นหลายล้านบาทนั้น ก็เนื่องจากข้ออ้างของบรรดานักวิชาการที่ว่า ต่อไปการดำเนินงานต่างๆ มีแนวโน้มต้องยุ่งยากมากขึ้นอย่างแน่นอน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาราว 1 ปีที่ผ่านมาที่ กฟผ.ส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ภายใต้การนำของนายสัณห์ เงินถาวร หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า จ.นครศรีธรรมราช ลงลุยพื้นที่เพื่อผลักดันการก่อสร้าง 2 โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน การดำเนินงานส่วนใหญ่มากมายไปด้วยความเคลือบแคลงใจของชาวบ้านในพื้นที่
ดังนั้น การที่ กฟผ.ตัดสินใจเดินหน้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความคิดเห็นของชุมชน ด้วยการใช้นักวิชาการชุดเดิมที่เคยมีความขัดแย้งกับชาวบ้านมาก่อนแล้ว แถมยังถมเงินลงไปเพื่อการนี้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เช่นนี้แล้วจะไม่เป็นการเติมเชื้อไฟแห่งการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ปะทุคุโชนอยู่แล้วให้ยิ่งลามทุ่งไปอีกละหรือ ?!?!