xs
xsm
sm
md
lg

นายกอบต.เมืองคอนแฉกฟผ.เสนอให้ 120 ล.ซื้อใจชาวบ้านเลิกต้านโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - นายกอบต.ท่าขึ้น แฉกฟผ.เสนอเงินให้ 120 ล้านซื้อใจชาวบ้าน ด้วยการนำโครงการเข้ามาในชุมชน แต่ได้ปฏิเสธไป และเตรียมยื่น นายกฯ ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เร็วๆ นี้ ด้านชาวบ้านยื่นคำขาด กฟผ.ขนของออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ส่วนนักศึกษา มวล.รณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่

นายบุญโชค แก้วแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.)ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นับจากวันที่มีการจัดเวทีประชาคมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่า คนนครศรีธรรมราชไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดังนั้น จุดยืนของผู้นำท้องถิ่นทุกระดับในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชจึงจะร่วมมือกันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงเฉพาะค่าจีดีพีแล้วชาวบ้านไม่มีอาหารกินและยังทำลายวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็ถือว่าล้มเหลว

"ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอเงินให้แก่ อบต.ท่าขึ้น เป็นเงินกว่า 120 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพื้นที่ระหว่างที่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ แต่ผมตอบปฏิเสธ วันนี้ผมต้องขอบคุณ กฟผ.ที่จะนำโครงการเข้ามาในชุมชนของเรา เพราะถือว่าวันนี้โรงไฟฟ้าได้เป็นจุดศูนย์รวมของคนทั้งจังหวัด ที่ร่วมกันไม่เอาโรงไฟฟ้าและตอนนี้ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต.ทั้ง 29 แห่งและอีกหลายพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้จะร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการสร้างภูมิคุ้มกันของคนในชุมชนต่อการพัฒนาของรัฐต่อไป"นายบุญโชค กล่าว

ขณะที่นายวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์ท่าศาลา กล่าวว่า เราจะให้เวลา กฟผ.อีก 15 วัน หากไม่ย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่และไม่ยกเลิกโครงการ เราก็จะไม่รับรองความปลอดภัย เพราะตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่มีความไม่พอใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินค่อนข้างมาก ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนในพื้นที่ทราบแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแต่สร้างผลเสียให้แก่คนในชุมชน

"เราจะต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ถึงที่สุด หากครบกำหนด 15 วัน กฟผ.ไม่ออกจากพื้นที่ก็จะเห็นดีกัน นอกจากนี้เรายังจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า โครงการของรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะการเข้ามาของโครงการใหญ่ๆ ของรัฐอย่างไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน พร้อมกันนี้จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อให้ทบทวนขอแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ว่าไม่ควรมาสร้าง เพราะเป็นการพาคนนอกที่เป็นเอเลี่ยนฉบับนายทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาวบ้านที่เป็นคนพื้นที่และเป็นการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนภาคใต้"นายวิชาญกล่าว

ขณะที่ ผศ.ลัดดา เฉียมวงศ์ อาจารย์จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การเข้ามาของโรงไฟฟ้าทำให้สังคมการศึกษาค่อนข้างตื่นตัวถึงผลกระทบ ดังนั้น หลายภาควิชาโดยเฉพาะภาควิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้บรรจุเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้ามาเป็นหนึ่งหลักสูตรในการศึกษาด้วย เพราะเราได้รับข้อมูลทางด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศแล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

"ตอนนี้มีข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชปี 2551 ว่าสาเหตุการตายของคนในพื้นที่ คือ โรคเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดและโลหิตเป็นพิษ แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าคงมีโรคแปลกๆ ตามมาอีกมาก ดังนั้น พวกเราก็คงต้องตั้งรับและศึกษาเพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่ให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชุมชน"ผศ.ลัดดากล่าว

ทางด้านนายปิยพล บุญแก้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาค่อนข้างตื่นตัวกับการเข้ามาของโรงไฟฟ้า เพราะทุกคนต่างกลัวผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นทุกสัปดาห์นักศึกษาจึงจะออกรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ทราบถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นและออกมาร่วมกันกำหนดอนาคตของชุมชนร่วมกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการออกแถลงการณ์ โดยใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชน” ประกอบด้วย ภาคี 3 ฝ่าย คือ พนักงาน นักศึกษา และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวเรื่อง คัดค้านและไม่สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อำเภอท่าศาลาและหัวไทร ฉบับที่ 1โดยประกาศคัดค้านและไม่สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช และไม่สนับสนุนพื้นที่นครศรีธรรมราชเป็นเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หากจ.นครศรีธรรมราช หรือประเทศไทยมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขอสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกที่ไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลม หรือแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ เครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชนขอเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินงานทั้งหมดของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใน 15 มี.ค. 2554 และดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย เช่น ความขัดแย้งภายในชุมชนที่เกิดจากการทำงานช่วงที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น