xs
xsm
sm
md
lg

นายก อบต.เมืองคอนแฉ กฟผ.เสนอเงิน 120 ล้านซื้อชาวบ้าน - ขีดเส้นตายเก็บของออกนอกพื้นที่ภายใน 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - นายก อบต.ท่าขึ้น เมืองคอนแฉ กฟผ.เสนอเงินให้ 120 ล้านบาทซื้อชาวบ้าน แต่ไม่เอาและเตรียมยื่น “มาร์ค” ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้เร็วๆ นี้ ขณะที่ชาวบ้านยื่นคำขาด กฟผ.ขนของออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ส่วนนักศึกษา มวล.รณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในพื้นที่

นายบุญโชค แก้วแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นับจากวันที่มีการจัดเวทีประชาคมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนนครฯ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้น จุดยืนของผู้นำท้องถิ่นทุกระดับในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จึงจะร่วมมือกันต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงเฉพาะค่าจีดีพีแล้วชาวบ้านไม่มีอาหารกินและยังทำลายวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็ถือว่าล้มเหลว

“ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอเงินให้ อบต.ท่าขึ้น เป็นเงินกว่า 120 ล้านบาทเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพื้นที่ระหว่างที่โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ แต่ผมตอบปฏิเสธ วันนี้ผมต้องขอบคุณ กฟผ.ที่จะนำโครงการเข้ามาในชุมชนของเรา เพราะถือว่าวันนี้โรงไฟฟ้าได้เป็นจุดศูนย์รวมของคนทั้งจังหวัดที่ร่วมกันไม่เอาโรงไฟฟ้าและตอนนี้ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต.ทั้ง 29 แห่ง และอีกหลายพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้จะร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการสร้างภูมิคุ้มกันของคนในชุมชนต่อการพัฒนาของรัฐต่อไป” นายบุญโชคกล่าว

ขณะที่ นายวิชาญ เชาวลิต ประธานเครือข่ายรักษ์ท่าศาลา กล่าวว่า เราจะให้เวลา กฟผ.อีก 15 วันหากไม่ย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่และไม่ยกเลิกโครงการ เราก็จะไม่รับรองความปลอดภัย เพราะตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่มีความไม่พอใจกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินค่อนข้างมาก ดังนั้นหากเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนในพื้นที่ทราบแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีแต่สร้างผลเสียให้กับคนในชุมชน

“เราจะต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ถึงที่สุด หากวันที่ 16 มีนาคมนี้ กฟผ.ไม่ออกจากพื้นที่ก็จะเห็นดีกัน นอกจากนี้เรายังจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า โครงการของรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน โดยเฉพาะการเข้ามาของโครงการใหญ่ๆ ของรัฐอย่างไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน พร้อมกันนี้จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนขอแผนพัฒนาภาคใต้ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ว่าไม่ควรมาสร้าง เพราะเป็นการพาคนนอกที่เป็นเอเลี่ยนฉบับนายทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาวบ้านที่เป็นคนพื้นที่และเป็นการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนภาคใต้” นายวิชาญกล่าว

ขณะที่ ผศ.ลัดดา เฉียมวงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การเข้ามาของโรงไฟฟ้าทำให้สังคมการศึกษาค่อนข้างตื่นตัวถึงผลกระทบ ดังนั้นหลายภาควิชาโดยเฉพาะภาควิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้บรรจุเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้ามาเป็นหนึ่งหลักสูตรในการศึกษาด้วย เพราะเราได้รับข้อมูลทางด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศแล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

“ตอนนี้มีข้อมูลจากสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชปี 2551 ว่าสาเหตุการตายของคนในพื้นที่ คือ โรคเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดและโลหิตเป็นพิษ แต่ถ้าโรงไฟฟ้าคงมีโรคแปลกๆ ตามมาอีกมาก ดังนั้น พวกเราก็คงต้องตั้งรับและศึกษาเพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่ให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชุมชน” ผศ.ลัดดากล่าว

ทางด้าน นายปิยพล บุญแก้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาค่อนข้างตื่นตัวกับการเข้ามาของโรงไฟฟ้า เพราะทุกคนต่างกลัวผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นทุกสัปดาห์นักศึกษาจึงจะออกรณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ทราบถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นและออกมาร่วมกันกำหนดอนาคตของชุมชนร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น