รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
2 โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 700เมกะวัตต์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเร่งเครื่องให้เกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นไปตามแผนการสำรองไฟฟ้าหรือ PDP.2010ที่กำหนดจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 10 โรง และยังจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกอย่างน้อย 5 โรง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
พื้นที่ที่เหมาะจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องอยู่ริมทะเล เพื่อสะดวกในการขนส่งเชื้อเพลิง การนำน้ำมาระบายความร้อน เวลานี้ที่ กฟผ.เล็งแลไว้จึงอยู่ใน ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา กับ ต.หน้าสตน และต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่ง กฟผ.ก็ได้ทุ่มงบถึง 10ล้านบาท เพื่อเปิดเกมรุกทุกวิถีทางให้ชาวบ้านในชุมชนที่นั่นเกิดการยอมรับมาตั้งแต่ปี
2553
แม้จะอ้างว่าเป็นเพียงขั้นตอนให้ความรู้และทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน แต่เงินจำนวนมากก็ถูกนำไปหว่านโปรยทั้งในรูปซื้อของแจกจ่ายชาวบ้าน หรือทุ่มตรงไปให้แก่องค์กรต่างๆ ในชุมชนรวมถึงพาผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านชักแถวไปเที่ยวและศึกษาดูงาน พร้อมๆกับมีเงินติดกระเป๋าให้ด้วย อันเป็นการทุ่มเทกันอย่างเต็มสูบก็ว่าได้
กฟผ.เองวางกระบวนการผลักดันตั้งโรงไฟฟ้าที่ จ.นครศรีธรรมราชไว้ว่า จะใช้เวลาศึกษาข้อมูลเบื้องต้นราว 6-12 เดือน แล้วจึงศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบของโครงการอีก 6-12 เดือน จากนั้นจึงเสนอขออนุมัติก่อสร้างตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7-12 เดือน พร้อมๆ กับการดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ นี้ กฟผ.วางเป้าว่าอาจจะต้องใช้เวลารวบรวมที่ดินให้ได้แปลงใหญ่ขนาด กว่า 1 พันไร่ต่อการก่อสร้าง 1 โรงราว 15-18 เดือน สำหรับการก่อสร้างจะใช้เวลา3-5 ปี วงเงินลงทุนคร่าวๆ ของแต่ละโรงอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท
นับแต่ต้นปี 2553 กฟผ.ได้ส่งคณะทำงานชุดใหญ่ภายใต้การนำของนายสัณห์ เงินถาวร ลงลุยครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายแล้ว โดยตั้งสำนักงานหลักเพื่อการนี้โดยเฉพาะอยู่ที่ของสถานีย่อยไฟฟ้าแรงสูง ถ.ราชดำเนิน ต.ศาลามีชัย อ.เมืองนครศรีธรรมราช ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช แล้วแตกตัวไปตั้งสำนักงานย่อยทั้งในพื้นที่ของ อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ที่คณะทำงานของ กฟผ.ชุดนี้พยายามทะลุทะลวงให้คนคอนยอมรับการเกิดขึ้นของ 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว แต่การณ์กลับปรากฏเป็นไปตรงกันข้าม จนสร้างความหนักใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูงบางราย เนื่องเพราะยิ่งทำความเข้าใจ กลับยิ่งมีแรงต้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากป้ายคัดค้านที่ชาวบ้านได้จัดทำขึ้นเองแล้วติดอยู่กลาดเกลื่อนทั่วไป
ปฏิกิริยาจากชาวบ้านทั้งใน อ.หัวไทรและ อ.ท่าศาลา ได้แสดงออกชัดเจนว่าไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในท้องถิ่นเด็ดขาด โดยใน อ.ท่าศาลาเวลานี้ได้ก่อเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมืออย่างจริงจังขึ้นแล้ว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งจากโรงฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยเองและจากทั่วโลก พร้อมตั้งปณิธานกันไว้ด้วยว่าจะใช้การแสดงออกด้วย "รอยยิ้ม" และ"มิตรไมตรี" เป็นเครื่องมือหลักของการต่อสู้
สิ่งนี้ยืนยันได้จาก นายบุญโชค แก้วแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา ที่บอกเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ผู้นำชุมชนต่างๆไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ อบต. ผู้ใหญ่บ้านและกำนันโดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ชายฝั่งทะเล
ผู้นำท้องถิ่นเราได้ร่วมมือกันและเตรียมลงนามร่วมกับประชาชนในการแสดงความไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยแล้ว
"ข้อมูลที่ กฟผ.ให้ไม่ชัดเจน มีการแอบอ้างว่าทำเพื่อชุมชน แต่แท้จริงเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมขนาดมหึมา การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องคำนึงถึงคนในชุมชนเป็นหลัก"
นายอภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา กล่าวเสริมว่า ผู้บริหารอบต.ท่าศาลาและชาวบ้านในพื้นที่พร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมกับประชาชนและองค์กรท้องถิ่นอื่นๆรวมทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ไม่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่
"ที่ผ่านมา กฟผ.เข้าไปให้ข้อมูลเฉพาะแต่ด้านดี แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผลเสียหรือผลกระทบ ความจริงแล้วประชาชนต้องการข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ดังนั้น เราจะร่วมกันแสดงออกให้กฟผ.และรัฐบาล เห็นถึงความสวยงามในเจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจะใช้รอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยไมตรี และจะไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เราไม่อยากให้แผ่นดินเกิดของเราเป็นเหมือนมาบตาพุด"
สำหรับใน อ.หัวไทรก็เกิดเครือข่ายในลักษณะไม่แตกต่างกัน โดยผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านต่างก็ออกมาแสดงจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เห็นเด่นชัดแล้ว เพียงแต่ท่าทีที่แสดงออกจะไม่เหมือนกัน เพราะมักจะเป็นไปในแนว "บู๊" มากกว่าก็ตาม
นายสมชาย อริยกุลนิมิต นายกเทศมนตรีตำบลหัวไทร อ.หัวไทร บอกว่า ในฐานะที่เป็นนายกเทศมนตรีและเป็นคนหัวไทรโดยกำเนิด เกิดและโตที่ อ.หัวไทรมาจนอายุ 60 ปีแล้ว ตนจึงกล้าที่จะพูดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่เช่นนี้จะสร้างผลกระทบให้แก่ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง มันจะเข้าไปทำลายวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็ได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว
"โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นใน อ.หัวไทรแทบจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยกับคนในพื้นที่ มีแต่จะสร้างผลเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ขอให้ กฟผ.หยุดโครงการนี้จะดีกว่าเมื่อทำได้ ดังนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า สำหรับผมเองพร้อมที่จะร่วมกับชาวบ้านในการคัดค้านโครงการนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ"
ด้านนายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวหัวไทรได้รับรู้และเห็นผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ทั้งที่แม่เมาะใน จ.ลำปาง และที่มาบตาพุดใน จ.ระยองมาโดยตลอด ดังนั้น ชาวหัวไทรจึงไม่อยากให้เกิดความเลวร้ายแบบซ้ำๆ ขึ้นใน อ.หัวไทร ซึ่งก็เป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วย
นายครองศักดิ์กล่าวด้วยว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้สิ่งแวดล้อมของ อ.หัวไทร จะเคยเสื่อมโทรม แต่เมื่อโครงการในพระราชดำริของในหลวงเข้ามาดำเนินการแผ่นดินนี้ก็ได้พลิกฟื้นคืนสภาพให้ดีขึ้นมาตามลำดับ การยกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาไว้ใน อ.หัวไทร จึงไม่ต่างกับจะเข้าไปย่ำยีโครงการในพระราชดำริของในหลวงโดยตรงด้วย
"ผมอยากจะขอให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แท้จริง เป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทยจะดีกว่า ดังนั้น ผมจะร่วมกับประชาชนต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ.นี้จนถึงที่สุด"
นอกจากนี้แล้ว ในระหว่างที่ชาวนครฯนัดรวมพลใหญ่ 22-24ก.พ.นี้ก็น่าจะมีภาพที่ผู้นำท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร อบต. เทศบาล ผู้ใหญ่บ้านและกำนันหลายพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราชชักแถวร่วมลงนานในสัญญาประชาคมกับภาคประชาชนว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกด้วย