xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครฯนัดรวมพลใหญ่ 22-24 ก.พ.ต้านกฟผ.ดันทุรังตั้ง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว
รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

พลันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทีมลงลุยพื้นที่ทำความเข้าใจถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหมู่บ้านริมทะเลของ อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้สร้างแรงเหวี่ยงให้คนในชุมชนของ 2 อำเภอดังกล่าวลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกโดยทันที

ปฏิกิริยาจากชุมชน คือ ความวิตกกังวลต่อการใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้า เพราะหวั่นจะก่อให้เกิดมลพิษตามมา แม้ว่า กฟผ.จะยืนยันถึงการใช้เทคโนโลยีทันสมัยกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แบบเดียวกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และให้โควตาพาคนในชุมชนของทั้ง 2 พื้นที่ไปดูโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ 1,000 คน

ทั้งนี้ กฟผ.ยอมทุ่มงบประมาณทำความเข้าใจกับชาวบ้านในครั้งนี้ถึง 10 ล้านบาท ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งที่ 3 และ 4 ของไทยจะเกิดขึ้นที่ จ.นครศรีธรรมราชได้หรือไม่ก็ตาม

แต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กฟผ.ก็ยังไม่สามารถลดกระแสต่อต้านที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะการเปิดเวทีของชาวบ้านที่มีแกนนำในระดับหมู่บ้านและอำเภอลุกขึ้นขุดคุ้ยความจริงอีกด้านของมหันตภัยโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งในไทยและทั่วโลกมาตีแผ่ ตลอดจนเรียกร้องจุดยืนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่รับจ้าง กฟผ.ทำงานวิชาการสนับสนุน โดยนักศึกษาเองก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านเช่นเดียวกัน

แม้นายสัณห์ เงินถาวร คน กฟผ.ที่ถูกส่งมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า จ.นครศรีธรรมราช จะพยายามชี้แจงว่า กฟผ.มีหน้าที่ต้องหาแหล่งพลังงานสำรองในราคาถูก และทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งต้องมีการสำรองไฟฟ้า 15% ของช่วงเวลาที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุด

“โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งที่จะเกิดขึ้นใน จ.นครศรีธรรมราชถือเป็นพลังงานสะอาด ใช้ถ่านหินบิทูมินัสผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมที่จะปลดระวางในปี 2559 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักร่วมกับโรงไฟฟ้าจะนะในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ หลังจากมีการต่อต้านหนักที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ทำให้นโยบายระดับบริหารเปลี่ยนไป จนต้องมีการย้ายลงมาที่ จ.นครศรีธรรมราช และเปลี่ยนนโยบายให้มีการเข้าหาประชาชนให้มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม จากการที่ กฟผ.ประกาศหว่านเงินถึง 10 ล้านบาทเพื่อทำให้ชาวนครฯยอมรับการเกิดขึ้นของ 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ที่ผ่านมาฝ่ายชาวบ้านที่คัดค้านได้เสนอว่าให้แบ่งมาให้ชุมชนได้มีโอกาสทำเวทีให้ความรู้แบบคู่ขนานบ้างนั้น เรื่องนี้ได้รับคำตอบชัดเจนแล้วจากตัวแทนของ กฟผ.ที่ว่า

“ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะการคัดค้านนำโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ที่ได้ปลุกปั่นยุยงคนในพื้นที่ให้แตกแยก เป้าหมายคือไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แถมในเบื้องหลังก็มีการรับเงินสนับสนุนอยู่แล้ว สวนทางกับแนวทางการทำงานของ กฟผ.โดยสิ้นเชิง”

นายสัณห์กล่าวด้วยว่า กลุ่มผู้คัดค้านมีความพยายามที่จะใช้ความรุนแรงในการขัดขวางการทำงานของ กฟผ.มาโดยตลอด ดังนั้นการจัดให้มีเวทีประชาคมในแต่ละพื้นที่ จึงเปิดเฉพาะคนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มคัดค้าน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง ที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะโดยทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มชาวบ้าน ชุมชนหรือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2553 ไปร่วม 4 ล้านบาท
ชาวท่าศาลาในแต่ละครัวเรือนลงขันทำป้ายและสัญลักษณ์แสดงการคัดค้านการเข้ามาของโรงไฟฟ้าด้วยตัวเอง
“หากชาวบ้านเปิดทางให้โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งเกิดขึ้นได้แล้ว กฟผ.ก็จะมีเงินกองทุนสนับสนุนชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในอัตรา 2 สตางค์ต่อกระแสไฟฟ้า 1 หน่วย ซึ่งระหว่างการก่อสร้างจะมีเม็ดเงินประมาณ 40 ล้านบาท และเมื่อมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเต็มระบบแล้วจะเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว” นายสัณห์กล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่า

แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีปัญหามลพิษมาก่อน ทว่า ณ เวลานี้สามารถแก้ได้ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยี แต่ยากยิ่งกว่าคือทัศนคติที่แก้ยาก แม้ว่าถ่านหินมีต้นทุนที่คงที่มากกว่าวัตถุดิบชนิดอื่น และสามารถเก็บสต๊อกไว้ได้ โดยขณะนี้มีนักธุรกิจไทยได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดแคลนวัตถุดิบ

คำกล่าวของตัวแทน กฟผ.สวนทางกับข้อมูลของนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว กลุ่มเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลาที่ยืนกรานว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศได้ก่อมลพิษจนเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อชาวโลกมาแล้ว แถมยังเป็นตัวการใหญ่ 1 ใน 3 ของสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ด้วยต้นทุนแท้จริงของถ่านหินนั้นถูกสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า แต่มีต้นทุนในการดูแลผลกระทบสูงกว่าวัตถุดิบอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดคือการผลักมลพิษให้ชุมชน

“แม้ว่าจะมีการใช้ถ่านหินบิทูมินัสที่มีคุณภาพดีกว่าลิกไนต์ แต่ก็เหนือกว่าเฉพาะการให้ความร้อน ทว่ายังมีสารปรอทเท่าเดิม และโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ที่จะเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช มีความต้องการใช้ถ่านหินถึงกว่า 7,000 ตัน/วัน สิ่งนี้จะก่อขี้เถ้าออกมาราว 700,000 กก./วัน เกินกว่าที่จะขจัดหมดไปได้อย่างปลอดภัย”

นายทรงวุฒิกล่าวว่า จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดชาวบ้านจึงรวมตัวกันอย่างฉับพลันและเหนียวแน่น แล้วสร้างเป็นเครือข่ายกลุ่มรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา โดยมีแกนหลักอยู่ใน 4 ตำบลของ อ.ท่าศาลา ได้แก่ ต.ท่าขึ้น ต.ท่าศาลา ต.กลาย และ ต.สระแก้ว ซึ่งก็ล้วนเป็นพื้นที่เป้าหมายในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกทั้งยังต่อสายไปถึงกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทรอีกด้วย

นอกจากนี้แล้วกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทรยังเป็นแกนหลักในการร้อยรัดประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความคิดเห็นตรงกัน จนทำให้เกิดภาพเป็นจิ๊กซอว์การพัฒนาภาคใต้โดยรวม ซึ่งพบว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่อย่างการสร้างสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ที่จะตามมาอีก

ทั้งนี้ เพื่อทำให้ภาคใต้ของไทยกลายเป็นพื้นที่รองรับการเกิดขึ้นของแหล่งอุตสาหกรรมขนาดมหึมา อันเป็นไปตามแผนของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ซึ่งล้นทะลักมาจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ถูกพัฒนาเต็มศักยภาพไปแล้วจำนวน 3 เฟส นั่นเอง

“ตอนนี้ชาวบ้านรู้ทันการพัฒนาของรัฐหมดแล้ว ชาวบ้านทั้งใน อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร รวมถึงผู้นำชุมชนก็ออกมายืนกรานปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่องจนกว่า กฟผ.ยอมถอย ด้วยทุนรอนที่ต่างคนต่างเสียสละกันคนละเล็กละน้อย เพื่อแลกกับอนาคตความเป็นอยู่ที่ผูกพันและภาคภูมิใจในบ้านเกิด” นายทรงวุฒิกล่าวและเสริมว่า

ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.นี้ก็ได้มีการนัดรวมพลต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยสันติวิธีครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเมืองนครฯ ที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มคนทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและพุทธ แต่ก็อยู่อย่างสันติ สามัคคี เพราะอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน พร้อมกันนี้จะมีการทำสัญญาประชาคมที่เป็นการร่วมลงนามของบรรดาผู้นำท้องถิ่นด้วย เช่น  กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายก อบต. เป็นต้น

“เราคาดกันว่าจะมีพลังมวลชนร่วมหลายหมื่นคนที่จะออกมาร่วมมือร่วมใจกัน โดยเฉพาะการจับมือประสานเชื่อมต่อกันตามท้องถนนจะมีเกินกว่า 1 หมื่นคนแน่นอน”

นับว่าไม่เกินสิ้นเดือน ก.พ.นี้ก็คงจะเป็นที่ประจักษ์ว่า แท้จริงแล้วคนคอน โดยเฉพาะชาวหัวไทรและชาวท่าศาลาคิดอย่างไรกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตลอดจนความต้องการจะเลือกอนาคตของพวกเขาอย่างไร ?!?!
กำลังโหลดความคิดเห็น