ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฯ เผย กฟผ.ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งใน จ.นครศรีธรรมราชสูง 10 ล้านเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน พร้อมขนชาวบ้าน ผู้นำชุมชนฯลฯดูงานโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศราว 300 คนแล้ว โดยเล็งแห่งแรก ที่อ.หัวไทร ด้านกลุ่มคัดค้านหวั่นทั้งเงินและสิ่งของจะทำให้ชาวบ้านหลงผลประโยชน์โดยไม่รู้ทัน อีกทั้งมีที่ดินของกลุ่มทุนใหญ่ทำให้ง่ายต่อการซื้อที่ดินตั้งโรงไฟฟ้า
ภายหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) ดำเนินการให้ความรู้ชุมชนใน อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร โดยการตั้งศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยงบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะในชุมชน และนำคณะผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน นักเรียนเดินทางดูงานโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้วทั้งในและต่างประเทศ ก่อนที่จะประเมินความคิดเห็นชุมชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่
นายสัณห์ เงินถาวร หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การลงพื้นที่ อ.หัวไทรมีความคืบหน้ามากกว่า อ.ท่าศาลา โดยมีการทำเวทีประชาคมหมู่บ้านแล้ว 5 แห่ง และพาคณะผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ชาวบ้าน ตลอดจนนักเรียนไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย แล้วประมาณ 300 คน และมีโควต้าอีก 200 คน
ส่วนกรณี ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชยุติการศึกษาทัศนคติประชาชน ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยการสนับสนุนเงินจาก กฟผ. หลังจากถูกชาวบ้านและนักศึกษาทวงถามจุดยืน จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการทำงานของ กฟผ.หรือไม่ นายสัณห์ กล่าวว่า การถอนตัวไม่มีผลต่อการทำงานของ กฟผ. ซึ่งสามารถทำเองหรือว่าจ้างนักเรียน นักศึกษาลงพื้นที่สำรวจเองก็ได้
สำหรับการประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ร่วม 10 ล้านบาท หากประเมินความคิดเห็นชุมชนแล้วชาวบ้านยอมรับก็จะดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 แห่ง หลังจากนั้นจึงประกาศซื้อที่และวางเงินมัดจำจำนวน 10% แล้วจึงศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EIA )และรายงานผลกระทบทางด้านสังคม ( HIA) ขออนุมัติจาก ครม. และก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการรวม 8 ปี
ด้านนายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า แม้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวบ้าน ทำให้บางคนที่มีส่วนได้มีความตื่นเต้น โดยเฉพาะที่ กฟผ.นำไปเลี้ยงดูปูเสื่อเที่ยวดูโรงไฟฟ้า พร้อมเงินเบี้ยเลี้ยงรายวัน ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุได้รับแจกแว่นตา ผ้าถุง ข้าวสาร ตลอดจนกลุ่มที่ขาดทุนจากการทำนากุ้งหวังว่าจะขายที่ดินในราคาสูง ต่างจากชาวบ้านที่ยังคิดทำมาหากินในบ้านเกิดที่เห็นว่าการเข้ามาของโรงไฟฟ้าจะสร้างหายนะให้แก่ท้องถิ่น เพราะถ่านหินไม่ได้เป็นพลังงานสะอาดอย่างที่ กฟผ.พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของโรงไฟฟ้าถ่านหิน พบว่ามีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูงมากกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบชนิดอื่น การตั้งติดชายทะเลทำให้มีการปนเปื้อนออกสู่แหล่งน้ำและอากาศได้ง่าย และต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลในการเดินเครื่อง ส่วนควันพิษและก๊าซที่จะทำลายระบบเกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันนั้นมีการดำรงชีพตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และยึดพระราชดำรัสของในหลวงที่ทรงตรัสกับชาวบ้านโดยให้หลักคิดว่า ชาวบ้านจะอยู่ได้ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ และมีที่เพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านหัวไทรมีการปลูกพริกเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้แก่ประเทศมาเลเซียรายละ 400,000-1 ล้านบาท/ปี
นอกจากนั้น ผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังส่งผลให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้จากการทำนาปีและนาปรังที่มีมากถึง 900,000 ไร่ และมีการปลูกผัก ทำสวนเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาแล้ว ภาพของเมืองเกษตรกรรมนี้ต้องสิ้นลงอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านไม่ได้ต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณมหาศาลเช่นนั้น แต่เกิดขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา
ทั้งนี้ หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจริงยังส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรทางทะเลอีกด้วย เนื่องชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่วางปะการังเทียมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำให้ชุกชุม ส่งเสริมอาชีพประมงชายฝั่งให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี
กลุ่มคัดค้านฯ เชื่อว่าถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะดีจริงอย่างที่กล่าวอ้างคงไม่มาถึง อ.หัวไทร อย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะจะลงพื้นที่ใดก็มีคนต่อต้านจนต้องมาหยุดที่นี่ และจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชมาทำวิจัย และที่น่าเป็นห่วงคือชาวบ้านบางกลุ่มนั้นไม่เท่าทันข้อมูลอีกด้านหนึ่งของพิษภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ยังไม่ตื่นตัวนัก และไม่ว่าเสียงคัดค้านจะทำได้สำเร็จหรือไม่ เรื่องที่ดินในการก่อสร้างประมาณ 1,000 ไร่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีที่ดินของกลุ่มทุนเกษตรกรรมระดับชาติ และที่ดินของนายราเกซ ศักดิ์เสนา ที่มีปัญหากับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ผืนใหญ่รวมแล้วประมาณ 2,000-3,000 ไร่
ด้านนายสมิง พิพัฒนานนท์ ผู้ใหญ่บ้านสตนหน้า กล่าวว่า ที่ อ.หัวไทรนั้นมีศักยภาพในการทำกังหันลม ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นแล้ว หาก กฟผ.ต้องการไฟฟ้าจึงน่าจะทบทวนความปลอดภัยอีกครั้ง เพื่อให้การพัฒนาสามารถอยู่กับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีมลพิษ ดีกว่านำการพัฒนาที่มีแต่จะสร้างความแตกแยกให้แก่ชุมชนดังเช่นการเข้ามาของโรงไฟฟ้าถ่านหิน