xs
xsm
sm
md
lg

คนเมืองจันท์เตรียมพึ่งศาลปกครองหากโดนเลือกเป็นที่ตั้ง”นิคมฯเหล็ก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การต่อสู้คัดค้านโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรใน จ.จันทบุรี ได้เริ่มต้นขึ้นอีกแล้ว โดยภาคประชาชนยืนยันว่า หากมีความพยายามดำเนินโครงการนี้ จะพึ่งศาลปกครองขอความเป็นธรรม
ศูนย์ข่าวศรีราชา - คนเมืองจันทบุรีประกาศสู้ไม่ถอย ไม่ยอมให้จังหวัดเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเหล็กเด็ดขาด เตรียมฟ้องร้องศาลปกครอง หากถูกเลือกให้เป็นสถานที่ก่อสร้างนิคมฯ หลังถูกคัดเลือกให้เป็นเป็น 1 ใน 2 แห่ง ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กำหนดว่ามีศักยภาพที่เหมาะสมมากที่สุดในการดำเนินโครงการ

นางอินทิรา ภู่สุวรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.จันทบุรี เผยว่า จากกรณีที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด (COT) ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และบริษัท โกลเด้น แพลน จำกัด ศึกษาด้านการสร้างท่าเรือน้ำลึก

ส่วนบริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น ศึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนในเขตพื้นที่อ.แหลมสิงห์ และขลุง จ.จันทบุรี รวมทั้งในเขตอ.ระโนด จ.สงขลา เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่นากุ้งร้าง และป่าเสื่อมโทรม รวมถึงมีปริมาณน้ำในระดับที่มีศักยภาพและเหมาะที่จะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวจ.จันทบุรีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจ.จันทบุรีเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ และเมืองท่องเที่ยวในเรื่องของธรรมชาติ ทำให้ที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่าสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จะมีการประชุมสรุปผลการศึกษาอีกครั้ง ถึงแนวทางการดำเนินการ โดยมี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยมี 2 ทางเลือก คือ 1. ประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องมีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือไม่ หากมีความจำเป็น 2 พื้นที่ที่เลือกไว้คือ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี และ อ. ระโนด จ.สงขลา 2. ไปลงทุนที่ต่างประเทศ โดยมี 2 ประเทศที่ มีความเป็นไปได้ และได้มีการพูดคุยกันไว้ คือ ที่ ทวาย ประเทศพม่า และที่กัมพูชา ด้านจ.สระแก้ว

“สุดท้ายหากรัฐยังยืนยันที่จะใช้พื้นที่จ.จันทบุรีเป็นพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำอีก พวกเราจะดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้าน ชุมชน และสภาท้องถิ่น ได้มีมติร่วมกันที่จะคัดค้านให้ถึงที่สุด ซึ่งทันทีที่มีการอนุมัติให้ดำเนินการโครงการ พวกเราก็ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาช่วย “

นางอินทิรา กล่าวต่อไปว่า จากบทเรียนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษคุกคามคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ จ.จันทบุรี มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ปลอดสารพิษ แหล่งค้าพลอยระดับโลก หากมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กใน จ.จันทบุรี ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

“พวกเราชาวจันทบุรีขอแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการจัดตั้งอุตสาหกรรมหนักทุกประเภท ใน จ.จันทบุรี และพร้อมที่จะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด พวกเรายืนยันว่าเราขับเคลื่อนด้วยหัวใจที่ต้องการจะรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น “

ส่วนกรณีที่ผู้ศึกษาโครงการอ้างว่า พื้นที่ อ. แหลมสิงห์ จ. จันทบุรี เหมาะกับการสร้างโรงงานเหล็ก โดยอ้างว่าป่าชายเลนถูกทำลายเพราะการทำนากุ้ง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เอามาทำโรงถลุงเหล็กดีกว่า ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร และทำให้มีคำถามว่า ระหว่างป่าชายเลนเสื่อมโทรม กับโรงงานเหล็ก ที่จะต้องเอาถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์เต็มท้องฟ้า เมื่อลมตะวันตกพัดเข้ามา ก็พาฝนกรดเข้าหาเมืองแหลมสิงห์ เมืองจันท์ เมืองขลุง และเขาสระบาป ชุมชนเมือง และสวนผลไม้ จะเกิดผลกระทบอะไรอีกมากมาย อุตสาหกรรมใหญ่จะตามมา แรงงานเขมร กับแรงงานพม่าก็มาอยู่กันเต็มเมือง ท่าเรือขนส่งถ่านหิน ขนส่งแร่เหล็กที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ก็จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากเกิดเหตุที่คาดไม่ถึงในทะเล เช่น น้ำมันรั่ว สารพิษรั่วไหล ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถูกพัดเข้าหาชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลน ปากน้ำแหลมสิงห์ ปากน้ำเวฬุ ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็จะล่มสลายตลอดชายฝั่ง อะไรมันร้ายกว่ากัน โดยชาวบ้านเห็นว่าจันทบุรีไม่ควรมีท่าเรือน้ำลึก กับเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล

“แม้พวกเราจะคัดค้านมาต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ พบว่ากลุ่มนายทุนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดิน ใน 2 ตำบลของ อ.แหลมสิงห์ ไปแล้วกว่า 8,000 ไร่”นางอินทิรา กล่าว

ด้านนายธีระ วงศ์เจริญ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลพลับพลา กล่าวถึงกรณีคัดค้านการศึกษาความเป็นไปได้โครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ว่า จ.จันทบุรีไม่ควรเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนักทุกประเภท เนื่องจาก เป็นพื้นที่สีเขียว ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเหมาะสำหรับวิถีเกษตรและการท่องเที่ยว การตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำจะกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนจันทบุรี ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและการเกษตร และทราบการวางผังการพัฒนาเมืองใหม่ และนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก ได้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เทศบาลต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จนถึงต.บางชัน อ.ขลุง ที่สำคัญคือใกล้ลุ่มน้ำเวฬุซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ของจ.จันทบุรีได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม การที่จะก่อสร้างโรงงานต้องเป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากมีโรงงานไม่เข้าข่ายตามยุทธศาสตร์จังหวัดมาขยายพื้นที่ก่อสร้างคงไม่ได้ โดย ที่ผ่านมา คนเมืองจันท์ได้มีการร่วมลงรายชื่อคัดค้าน และทุกคนยืนยันพร้อมจะต่อสู้เพื่อคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างถึงที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น