ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มอ.พลิกนากุ้งร้าง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช หันไปปลูก ‘ต้นจาก’ เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาล และพลังงานทางเลือก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แถมช่วยลดปัญหาดินเค็ม ฟื้นนิเวศวิทยาทางชายฝั่ง ระบุผลงานเข้าตาผู้ผลิตไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น สนใจร่วมศึกษาการเพาะปลูกต้นจาก หวังนำไปใช้เป็นพืชพลังงานในอนาคต
รศ.ดร.นพรัตน์ บำรุงรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า สถาบันได้ศึกษาการทำประโยชน์จาก ‘ต้นจาก’ ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ทั่วไปในบริเวณชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน เพื่อนำไปในการผลิตน้ำตาลและแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานทางเลือกยามขาดแคลน โดยใช้พื้นที่ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ในการศึกษาการเพาะปลูกเพื่อศึกษาเทคนิคการปลูก กระบวนการกระตุ้นน้ำหวาน ฤดูกาลกับความสัมพันธ์ของน้ำตาลที่ได้ รวมถึงศึกษาความสามารถในการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการให้ผลผลิต
ทั้งนี้ จากการทดลองปลูกต้นจากในนากุ้งร้าง พบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยต้นจากที่มีอายุ 4-7 ปี สามารถให้ผลผลิตเป็นน้ำตาลได้วันละ 25 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูก 2 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้วันละ 1,000 บาท แต่หากนำน้ำตาลที่ได้จากต้นจากไปกลั่นเป็นแอลกอฮอล์จะทำได้รายได้มากกว่านี้ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกต้นจากจะมีรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ต้นจากยังสามารถแก้ปัญหาดินเค็มที่เกิดจากการทำนากุ้ง ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเพื่อเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชชนิดอื่นได้อีกด้วย
“เราใช้นากุ้งร้างที่อยู่ในแถบจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ต้นแบบในการปลูกต้นจาก เพื่อทำการศึกษาการใช้ประโยชน์จากต้นจาก เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้นำนากุ้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชชนิดอื่นได้ให้มาทดลองปลูกต้นจาก โดยให้การอบรมเกี่ยวกับการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ ระยะเวลาในการเพาะปลูก เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพดินให้สามารถกลับมาเพาะปลูกพืชชนิดอื่นได้ อีกทั้งยังสามารถมีรายได้จากการนำผลผลิตจากต้นจากไปทำเป็นน้ำตาลและสามารถนำแอลกอฮอล์ที่เป็นอีกผลผลิตของต้นจาก ไปผลิตเป็นพลังงานได้อีกด้วย” รศ.ดร.นพรัตน์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ม.อ.กล่าวด้วยว่า การศึกษาวิจัย ‘ต้นจาก’ ในครั้งนี้ ยังได้รับความสนใจจากบริษัท คันไซ อิเล็คทริก คัมปานี ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมมือในการศึกษาเพื่อใช้ต้นจากเป็นพลังงานทดแทน โดยทางญี่ปุ่นทำวิจัยเรื่องมวลชีวภาพ หรือการดูดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การวิเคราะห์น้ำตาล ความสามารถในการผลิตแอลกอฮอล์ และระยะต่อไปจะทำการศึกษาเพื่อหากกลไกในการทำให้ต้นจากผลิตน้ำหวานได้มากขึ้น และการปรับปรุงคุณภาพของน้ำตาลจากต้นจาก ทำให้อนาคต ‘ต้นจาก’ จะเป็นพืชพลังงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกเหมือนกับการปลูกต้นปาล์มได้