xs
xsm
sm
md
lg

ระโนดเดินหน้าปลูกไผ่ในนากุ้งร้าง คาดเงินสะพัด 3,000 ล้าน/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โครงการปลูกไม้ไผ่ในพื้นที่นากุ้งร้าง เดินหน้าในพื้นที่ อ.ระโนด คาดเงินสะพัด 3,000 ล้านบาท/ปี อนาคตเตรียมสนับสนุนโครงการ โรงงานอุสาหกรรมพลังงานชีวมวล

นายสัญญา วัชระพันธ์ ประธานชมรมไผ่สีทองภาคใต้ ในฐานะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โครงการปลูกไผ่พื้นที่นากุ้งกุลาดำร้าง ประมาณ 10,000 ไร่ มีความก้าวหน้าไปมาก ที่สามารถปลดหนี้เกษตรกรจากโครงการทำฟาร์มกุ้งในโครงการ ประมาณ 1,000 ราย กับ ธนาคารยูโอบี โดยธนาคารไม่เอาดอกเบี้ย เลิกการฟ้องร้องล้มละลาย และให้เหลือเงินต้นเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ จากหนี้สินทั้งหมดประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนหนี้สินของเกษตรกรที่มีกับธนาคารยูโอบี กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้เข้าไปซื้อแทนด้วย

นายสัญญา ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้เกษตรกรที่หมดภาระดังกล่าว จึงมีการเริ่มต้นโครงการปลูกไผ่ในพื้นที่นากุ้งกุลาดำร้างจำนวน 10,000 ไร่ โดยในเบื้องต้นจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,000 ไร่ และบางส่วน อีกทั้งทยอยเข้าโครงการ และลงทุนปลูกเอง และส่วนหนึ่งจะหันไปลงทุนทำนาข้าว ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้สมัครใจเข้าร่วม และในขณะนี้ส่วนหนึ่งก็ได้ลงทุนปลูกไผ่ โดยได้ลงทุนส่วนตัวไปแล้วจำนวนหนึ่ง และบางส่วนเทศบาล ต.บ่อตรุ อ.ระโนด ก็ให้การสนับสนุนโครงการ

นอกจากนั้น นากุ้งกุลาดำร้าง จากนอกพื้นที่ ก็จะทยอยดำเนินการปลูกไผ่ และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ก็ให้ความสนใจโครงการปลูกไผ่เช่นกัน แต่กำลังรอโครงการปลูกไผ่ อ.ระโนด เป็นผู้นำร่องไปก่อน

สำหรับเงินลงทุนในโครงการปลูกไผ่ จะเอาเงินทุนจากของกองทุนฟื้นฟูฯ มาลงทุน โดยประมาณจะต้องใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยขั้นตอนการปลูกจะเริ่มราวปลายปี 2554 และในปี 2556-2557 ก็สามารถให้ผลผลิต ขณะนี้ตลาดรองรับมีความต้องการปริมาณเป็นจำนวนมาก ในส่วนการตลาดมีศักยภาพสูงมาก

นายสัญญา กล่าวอีกว่า โครงการปลูกไผ่ทุ่งนากุ้งกุลาดำร้าง จะก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่จำนวนมาหาศาล เนื่องจากไม้ไผ่จะทำรายได้อยู่ในระดับ 30,000-50,000 บาท/ไร่/เดือน ซึ่งไม้ไผ่ให้ผลผลิตครบวงจร เช่น การแปรรูป ขายลำไผ่ หน่อไม้ และนำไปผลิตเป็นพลังงาน ตลอดจนนำไม้มาผลิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ไม้ไผ่จะทำรายได้โดยภาพรวมประมาณ 250 ล้านบาท/เดือน ตกปีละ 3,000 ล้านบาท

โครงการไม้ไผ่ จะเป็นโครงการเชื่อมโยงกันไปทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก นำไปสนับสนุนโครงการพลังงานชีวมวล ซึ่งโครงการนี้ทางประเทศญี่ปุ่น และอังกฤษ ได้ให้ความสนใจพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น