เชียงราย - แก๊งนายหน้าค้าความจนออกอาละวาดหนัก ส่งคนติดต่อเรียกเก็บเงินสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ รายละนับพัน อ้างช่วยวิ่งเต้นให้ปลดหนี้-รอดถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาดได้
นายนิยม สุวรรณประภา รักษาการหัวหน้าสำนักงานสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลอ้างตัวเป็นสมาชิกกองทุนฯ ใช้ความทุกข์ยากของผู้ประสบปัญหาหนี้สินในการฉกฉวยโอกาสและอาศัยช่องว่างการแก้ปัญหาตามกฎหมายและตามกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ออกไปเรียกเก็บเงินจากสมาชิกกองทุนฯ ที่ประสบปัญหาหนี้สินรายละนับพันบาท
โดยอ้างว่าสามารถติดต่อวิ่งเต้นให้สำนักงานกองทุนฯ ดำเนินการชำระหนี้ให้แก่สถาบันเจ้าหนี้ และจะรอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องบังคับคดี ยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาด
นายนิยมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังเรียกเก็บเงินจากสมาชิกเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมดำเนินงานตามแผนและโครงการที่สำนักงานกองทุนฯ อนุมัติเงินอุดหนุนและเงินกู้ยืม โดยส่งนายหน้าไปติดต่อเจรจาเป็นรายบุคคล หรือจัดประชุมเป็นรายกลุ่มอีกด้วย
ดังนั้น สำนักงานกองทุนฯ จึงขอแจ้งให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร และขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทะเบียนหนี้) ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ว่า จะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเกษตรกรสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
“หากพบเห็นกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวขอให้แจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในพื้นที่ทันที หรือแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาเชียงราย ตั้งอยู่ศาลากลาง จ.เชียงราย ชั้น 1 หมายเลขโทรศัพท์ 0-5315-0156 ในวันและเวลาราชการ” นายนิยม กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนเคยชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมและการช่วยเหลือทั้งที่ศาลากลางจังหวัด และที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้วหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านจำนวนมากมีปัญหาด้านหนี้สินอันเกิดจากโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่เข้าไปส่งเสริม และชาวบ้านไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่คือ ธ.ก.ส.และสหกรณ์ต่างๆ โดยขอให้รัฐบาลสานต่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร เนื่องจากในอดีตมติคณะรัฐมนตรี เคยระบุให้แก้ไขปัญหาหนี้สินหลายเรื่อง เช่น ช่วงที่สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ระหว่างการได้รับการช่วยเหลือให้สถาบันการเงินยุติการรับชำระและยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาด จากนั้นให้ลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกได้ผ่อนชำระหนี้จำนวน 50% ของหนี้เงินต้นทั้งหมดภายในระยะเวลา 15 ปี และให้มีการตรวจสอบวินัยการชำระหนี้ในช่วงนั้น หากพบว่า ลูกหนี้มีวินัยดี ก็จะให้ยกเลิกหนี้ต้นและดอกเบี้ยอีก 50% ที่เหลือทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เม.ย.และ 22 มิ.ย.53 ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่าไม่สามารถทำได้ ทำให้สถาบันการเงินยังคงดำเนินการให้ลูกหนี้ชำระหนี้และก่อให้เกิดความเดือดร้อนเรื่องทรัพย์สินที่ต้องสูญเสียไปไม่รู้จักจบสิ้น