เชียงราย - เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ นัดรวมพลัง 28 มกราฯนี้ ก่อนเคลื่อนขบวนยื่นข้อเรียกร้อง “มาร์ค” พร้อมกำหนดรวมพลทวงคำตอบที่หน้าศาลากลางทุกจังหวัดอีกรอบ 1 กุมภาฯ
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายของสมัชชาคนจน นำโดย นายสมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนเกษตรภาคเหนือ มีกำหนดจัดการชุมนุมใหญ่เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของสมาชิกไปยังรัฐบาล ร่วมกับเครือข่ายทั่วทุกภาคของประเทศ ที่เมืองทองธานีในวันที่ 28 ม.ค.54 นี้ คาดว่า จะมีคนร่วมชุมนุมทั้งหมด ตั้งแต่ 5,000-10,000 คน จากนั้นจะนำปัญหาทั้งหมดทุกจังหวัดไปร่วมหารือกันในระดับภาค ก่อนจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรใน จ.เชียงราย ครอบคลุม 4 ประเด็น คือ เรื่องหนี้สิน การเกษตร ป่าชุมชน และสัญชาติ โดยมีกลุ่มประชาชนในเครือข่ายเดินทางจาก จ.เชียงราย และพะเยา ร่วมขบวนประมาณ 100 คน และเชียงใหม่-ลำพูน ประมาณ 100 คน ทั่วภาคเหนือคาดว่าจะมีประมาณ 1,000 คน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ก.พ.54 กลุ่มประชาชนในเครือข่าย ยังมีกำหนดจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอคำตอบจากรัฐบาลที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดพร้อมกัน โดยในส่วนของ จ.เชียงราย จะไปรวมตัวกันในภาคเช้าและยื่นหนังสือทวงคำตอบผ่าน นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการยุติการชุมนุมในวันเดียวกันนี้หรือไม่ เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้ยังมีกรณี นายนิยม สุวรรณประภา จะเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.เชียงราย ในวันเดียวกันด้วย
ตัวแทนเกษตรกรรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนนายนิยมเคยทำงานอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.เชียงราย มาแล้ว แต่กลุ่มเกษตรกรจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานร่วมกัน เนื่องจากช่วงนั้นมีเครือข่ายหนี้สิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมัชชาถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ฯลฯ เป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่กระบวนการของรัฐบาลในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินได้ถูกอนุมัติไปแล้ว
ดังนั้น จึงสามารถใช้กระบวนการในการเรียกทุกฝ่ายมาหารือเพื่อชะลอความรุนแรงและเยียวยากลุ่มผู้มีหนี้สินจนไม่สามารถชำระได้ทันได้เช่นกัน ดังนั้นจึงอาจมีการเรียกร้องในเรื่องนี้ด้วย
“ที่หน้าศาลากลาง พวกเราคงไปกันประมาณ 1,000 คน เพราะอำเภอใหญ่อย่างแม่สาย แม่จัน เชียงแสน ฯลฯ ก็จะไปกันอำเภอละไม่ต่ำกว่า 100 คนแล้วเชียงรายมีจำนวน 18 อำเภอก็คงจะมาก เพื่อจะได้ร้องถามตามข้อเรียกร้องได้” หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายหนี้สินระบุ โดยกลุ่มนี้มีหนี้สินรวมกันกว่า 40 ล้านบาทจากสมาชิกประมาณ 100 กว่าคน ขณะที่ทั่วเชียงรายมีผู้ไปลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้สินกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรกว่า 20,000 ราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง