xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิด(จะเกิดเหตุ)..ที่หัวไทร (1)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

หากใครผ่านไปในเขตพื้นที่ของอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชในตอนนี้ ก็จะพบว่าตามต้นไม้ เสาไฟฟ้าสองข้างทางระหว่างเส้นทางเข้าเขตอำเภอหัวไทร ทั้งจากฝั่งที่ติดกับเขตอำเภอระโนดของจังหวัดสงขลาและเส้นทางที่มาจากฝั่งอำเภอปากพนัง จะถูกปิดด้วยป้ายที่ทำด้วยวัสดุต่างๆ ไม่ว่าบนพื้นกระดานอัด พื้นของกระสอบปุ๋ย กระสอบอาหารกุ้งด้วยข้อความต่างๆ ที่แสดงออกซึ่งความรู้สึกต่อต้าน คัดค้านหรือคำด่าทอด้วยคำพูดแรงๆ เจ็บๆ ให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้พบเห็นและรับรู้... รับรู้ว่าวันนี้พื้นที่ในเขตอำเภอหัวไทรกำลังจะมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านคัดค้านคุกรุ่นอยู่ภายใน ของผู้คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อย

ธงเขียวที่มีรูปกากบาทสีแดงทับคำว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ปลิวไสวอยู่ตามหน้าอาคารร้านค้าในตลาดหัวไทร ตามบ้านเรือนในแต่ละหมู่บ้าน ชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านคัดค้าน ได้ตกผลึกจนผู้คนกล้าแสดงตัวตนของตัวเองออกมาเผชิญกับความขัดแย้งในครั้งนี้อย่างเอาจริงเอาจังและเปิดเผย รถกระบะ 2-3 คันถูกปิดแผ่นป้ายมีข้อความคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาบสองด้าน ติดเครื่องเสียงโฆษณาให้ข้อมูล เชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินวิ่งสลับกันไปมาตามตลาด ตามหมู่บ้าน เป็นบรรยากาศที่ดูคึกคักฮึกเหิมที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

แน่นอนว่าสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กำหนดให้พื้นที่ของอำเภอหัวไทรเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่ง ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำหนดไว้ถึง 9 โรงในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ ซึ่งหากเราตามดูความเป็นมาก็พอทำให้มองเห็นกรอบความคิดปฏิบัติการในครั้งนี้ของ กฟผ.ได้ไม่ยาก ซึ่งเราจะพบว่า กฟผ.ได้มีคำอธิบายต่อสาธารณะทั้งทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วยประโยคที่ซ้ำๆ เช่น

““ไฟฟ้า” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตและการประกอบกิจการต่างๆ ของประชาชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อสังคมและวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งยังเป็นสื่อนำความเจริญในด้านต่างๆ ไปสู่ชุมชน” ...ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วย กฟผ.จึงยกเอาภารกิจ 2 ข้อคือ เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอนาคตตามความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัย ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และเพื่อเสริมความมั่นคงและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าหลัก

ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่าทำไมประชาชนในพื้นที่ถึงต่อต้านคัดค้าน ทั้งๆ ที่ กฟผ.ได้วางแผนให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ลงทำงานในพื้นที่มาแล้วปีกว่าๆ จ้างบริษัทโฆษณามืออาชีพจากกรุงเทพฯ ให้ทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเพื่อล้อมกรอบความรู้สึกที่คัดค้านของคนในพื้นที่ ไม่รวมถึงการว่าจ้างให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชลงมาเสริมในงานมวลชน เหตุผลหนึ่งที่สำคัญของความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรงก็เพราะว่า กฟผ.ได้ระบุว่าโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นที่อำเภอหัวไทรนี้ได้ใช้ “ถ่านหิน” มาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่ง กฟผ.พยายามเป็นอย่างสูงที่โหมโฆษณาให้ผู้คนเรียกว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด” ดังคำให้สัมภาษณ์แก่สื่อของนายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า

“ กฟผ.วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 9 โรง ตั้งแต่ปี 2562-2573 กำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 7,200 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่เป้าหมายคาดว่าจะอยู่ในจังหวัดที่อยู่ติดทะเล เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช” ...

“สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว (พีดีพี 2010) ซึ่งตามแผนพีดีพี กฟผ.จะต้องเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในเดือนมิถุนายน 2562 ในเดือนมิถุนายน ปี 2564 สร้างโรงที่ 2 เดือนมกราคม 2566 สร้างโรงที่ 3 เดือนมกราคม 2569 สร้างโรงที่ 4 และ 5 เดือนมกราคม 2571 สร้างโรงที่ 6 และ 7 เดือนมกราคม 2572 สร้างโรงที่ 8 และเดือนมกราคม 2573 สร้างโรงที่ 9”

คำก็โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด สองคำก็โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ทำยังกับว่าจะสามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้ ฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ก็หยิบยกเอาคำว่า “เทคโนโลยีขั้นสูง” ใช้ศัพท์แสงที่ชาวบ้านทั่วไปอ่านแล้วมึนอ่านแล้วอึ๊งเช่น “เพื่อให้เกิดความมั่นใจปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กฟผ.จึงได้นำระบบการควบคุมก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ ประกอบด้วยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) จะใช้หัวพ่นเชื้อเพลิงแบบ Low NOx Burner และใช้ระบบ Flue Gas Recirculation หมุนเวียนก๊าซร้อนที่ออกจากหม้อน้ำไปแล้วกลับเข้าในห้องเผาไหม้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้ ทำให้ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน NOx ที่เกิดจากระบบเผาไหม้ลดลง

นอกจากนั้น กฟผ. จะติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Selective Catalytic Reduction : SCR) เป็นอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการลด NOx ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จะถูกกำจัดโดยเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization : FGD) ที่มีประสิทธิภาพสูง”

โรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่เรียกกันว่าสกปรกที่สุดในโลก ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ยากแก่การป้องกัน ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ของฮอลลีวูดในปี 2550 โดยเฉพาะเมื่อสารคดีเรื่องดังแห่งปี Inconvenient Truth ที่มีนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดัน และกำกับโดยเดวิส กุกเกนไฮม์ พิชิตรางวัลได้ในสาขาสารคดียอดเยี่ยมในประเด็นรณรงค์ต่อต้านภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ในช่วงเวลาเดียวกับที่ออสการ์ประกาศผลนี้ นักนิเวศวิทยาระดับสูงขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติของอเมริกา หรือนาซ่า ออกมาเรียกร้องนานาชาติให้ระงับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินเอาไว้ชั่วคราว เพื่อยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน เจมส์ แฮนเซน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาอวกาศก๊อดดาร์ดของนาซ่า กล่าวกับเอเอฟพีว่า “ทั่วโลกควรจะระงับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่กำลังจะสร้างใหม่เอาไว้จนกว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จับและแตกตัวก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สำเร็จเสียก่อน...” นี่ขนาดประเทศอเมริกาที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขายังมีข้อเสนอเช่นนี้แล้วประเทศของเราจะไม่หาญกล้าไปหน่อยหรือที่จะนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาดำเนินการในบ้านเมืองของเรา

เราต้องไม่ลืมว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่ตรงไปตรงมาและมีผลประโยชน์ที่แอบแฝง สังคมไทยแม้จะยังตื่นตัวไม่มาก แม้ภาคประชาชนยังไม่สามารถทะลุทะลวง ตีแผ่ข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กฟผ.หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่านักการเมืองที่ออกไปสัมปทานเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียหรือในอินโดนีเซีย และก็กลับมาคบคิดกันผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในประเทศ หรือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างซีพีที่มีพื้นที่นากุ้งร้างในพื้นที่อำเภอหัวไทรกว่า 2,100 ไร่เตรียมขายพื้นที่ดังกล่าวให้กับ กฟผ.ในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ นึกหรือว่าจะรอดสายตายของประชาชนไปได้ทั้งหมด.
กำลังโหลดความคิดเห็น