นครศรีธรรมราช - นายก อบต.ท่าขึ้น จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกลุ่มเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เข้ายื่นหนังสือถึง “มาร์ค” บนเวทีของศูนย์ไบเทค บางนา วอนสั่งยุติโครงการดรงไฟฟ้าถ่านหินทันที ขีดเส้นตาย 15 มี.ค.จบ นายกฯรับเตรียมเรียกผู้ว่า กฟผ. รัฐมนตรีพลังงานแจงเร็วๆนี้ พร้อมเปรยได้รับข่าวด้านลบมาตลอด
ความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต่อ กรณีการเดินแผนการเตรียมการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 อำเภอ คือ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ท่าศาลาขณะนี้มีความเคลื่อนไหวในการคัดค้านต่อต้านโครงการอย่างเข้มข้น ในขณะที่กฟผ.ยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมต่างๆในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การแจกจ่ายเสื้อ การทำกิจกรรม หรือการระดมคนไปเที่ยวยังที่ต่างๆโดยอ้างเป็นโครงการศึกษาดูงาน หรือการไปอาศัยเวทีกิจกรรมต่างๆของ อบต. ชุมชน หรือของกลุ่มอาชีพต่างๆ สอดแทรกการให้ข้อมูลของกฟผ.อย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่เคยปรากฏกิจกรรมการให้ความรู้โดย กฟผ.อย่างเป็นทางการ
วานนี้(3 มี.ค.) นายบุญโชค แก้วแกม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขึ้น (อบต.)อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะแกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา พร้อมด้วยแกนนำอีกหลายคนได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา เพื่อขอให้สั่งการยุติแผนงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชภายในวันที่ 15 มี.ค.2554
หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กำหนดแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่อ.ท่าศาลาและหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปเพื่อเป็นพลังงานสำรองรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และอุตสาหกรรมที่สืบเนื่อง ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern seaboard)
ขณะนี้ กฟผ. ได้มีการจัดตั้งสำนักงานในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ และให้เจ้าหน้าที่ลงให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยไม่เปิดเวทีเป็นทางการ และมีการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและความขัดแย้งในวงกว้าง
ในการนี้ กลุ่มภาคีประชาชนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.นครศรีธรรมราช ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษาได้ศึกษาข้อมูลและบทเรียนจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน พบว่ามีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เช่น ฝนกรดและฝุ่นละอองขนาดเล็ก อันจะกระทบต่อสุขภาพและอาชีพการทำนา สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ของประชาชน รวมทั้งในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง จากการปล่อยน้ำทิ้งที่ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำทะเลในบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มภาคีเป็นห่วงว่าชุมชนท้องถิ่นที่มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานมากกว่าพันปีจะล่มสลาย ลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว
กลุ่มภาคีผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอยืนยันสิทธิในการกำหนดอนาคตของชุมชนตนเอง จึงได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยที่ประชาชนได้ร่วมลงนามแล้วกว่า 10,000 รายชื่อ และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมลงนามแล้วจำนวน 17 แห่ง กำนัน 6 ตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 3 คน
กลุ่มภาคีจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงขอเรียนให้ ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กฟผ. ยุติแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในจ.นครศรีธรรมราชภายในวันที่ 15มี.ค.นี้ และให้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช โดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และโปรดสำเนาคำสั่งการมายังเครือข่ายด้วย
นายบุญโชค แก้วแกม นายกอบต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยหลังจากการยื่นหนังสือแล้วว่า นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เนื่องจากข่าวที่ได้รับมานั้นมีหลายกระแส และแต่ละกระแสพบว่าเป็นปัญหาที่สุด ซึ่งผู้ร้องสามารถที่จะตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนได้ ขณะเดียวกัน จะเชิญผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าพูดคุยตรวจสอบว่า การที่ กฟผ.ลงไปให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวนั้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร และนายกรัฐมนตรีรับที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด
นายบุญโชค ยังกล่าวต่อว่า เรายืนยันว่าการคัดค้านของชาวอ.ท่าศาลา จะเป็นไปในมิติที่สวยงาม ไม่ปิดถนน ไม่เผาโลง ไม่ประท้วงใช้ความรุนแรง เราจะใช้วิธีการต่อสู้ที่ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง อย่างคนที่มีความรู้มาว่ากัน และถ้าในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ยังไม่มีการย้ายฐานออกไปนอกพื้นที่เราจะหารือมาตรการกันอีกครั้ง
ด้านแหล่งข่าวภายใน กฟผ.รายหนึ่งเปิดเผยว่าขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.เริ่มรู้แล้วว่ากระบวนการรายงานจากคน กฟผ.ในพื้นที่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีปัญหามากในเรื่องของยุทธศาสตร์การทำงานด้านมวลชนสัมพันธ์ มีความเป็นไปได้สูงว่า กฟผ.จะต้องแก้ปัญหาการบริหารบุคคลภายในก่อนที่จะเริ่มงานมวลชนในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง<
ขณะเดียวกันที่อบต.สระแก้ว ได้ร่วมมือกับกองทัพเรือ จัดเวทีเสวนาหมู่บ้านรณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขึ้นในที่ทำการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรประจำตำบล บ้านโคกตะเคียน ม.4 ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ปรากฏว่าทีมงานของกฟผ.ภายใต้การบริหารของนายสัณห์ เงินถาวร วิศวกรระดับ 9 ได้ใช้วิธีการสร้างมวลชนเช่นเดิมขอเข้าไปร่วมในเวทีดังกล่าว เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเหมือนเช่นเคย แม้ว่าวิธีการนี้จะไม่ได้รับผลเชิงบวกกลับมายัง กฟผ.เลย ขณะเดียวกันกลับสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านหลายคน แต่ไม่มีการแสดงออกใดๆเนื่องจากเกรงใจทางกองทัพเรือ และองค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะเจ้าภาพจัดกิจกรรมและเกรงว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียงของชาวสระแก้ว