นครศรีธรรมราช - ชมรมนักศึกษาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีจัดเวทีสาธารณะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งหนังสือเชิญทั้งกลุ่มคัดค้าน และ กฟผ.เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน แต่ กฟผ.ผวาเผยไต๋ไม่ส่งคนร่วมกลัวถูกต้อนซักจนมุม ด้านนักศึกษาแอบเซ็ง ไม่ขอคัดค้านแต่อยากให้มีความรับผิดชอบในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในเชิงรุกหากยังดันทุรังสร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ชมรมนักศึกษาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาชายฝั่งอ่าวไทย กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน บริเวณลานหน้าอาคาร 12 คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยการจัดเวทีในครั้งนี้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือเชิญตัวแทนทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่าย กฟผ. ประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เช่นนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว, นายอภินันต์ เชาวลิต นายกอบต.ท่าศาลา, นายบุญโชค แก้วแกม นายก อบต.ท่าขึ้น, นายวิชาญ เชาวลิต ข้าราชการบำนาญ ตัวแทน
ส่วนทางด้าน กฟผ.นั้นไม่ส่งผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง หรือให้ข้อมูลความรู้ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้จัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่เป็นเวทีที่สร้างความขัดแย้ง แต่เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นรวมทั้งเปิดโอกาสให้ กฟผ.ได้อธิบายข้อข้องใจที่เกิดขึ้นในสังคม
นายบุญโชค แก้วแกม นายก อบต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา กล่าวว่าการต่อต้านคัดค้านของประชาชนใน อ.ท่าศาลา เต็มไปด้วยองค์ความรู้จากนักวิชาการเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนการที่ไม่ชอบมาพากลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เข้ามาดำเนินการให้ความรู้ ในเรื่องข้อมูลเพียงด้านเดียวคือด้านดี โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชน โดยเฉพาะการปิดหูปิดตาเรื่องผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นอกจากนั้น ได้มีการกล่าวชี้แจงข้อมูลในเรื่องผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มประมงชายฝั่งที่จะได้รับมลพิษจากถ่านหิน และวิกฤตการแย่งทรัพยากรภายในชุมชน เช่น แหล่งน้ำดื่มน้ำจืด เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินถ้าหากมีการก่อสร้างในพื้นที่ใด จำเป็นต้องใช้นำจืดจำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง
ต่อมาตัวแทนนักศึกษาจากหลักสูตรการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราชได้แสดงถึงความคิดเห็นและมองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบโครงสร้างแบบลูกโซ่ ทั้งต่อชาวบ้านและต่อชุมชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมามีบทเรียนให้เห็นในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว และสำหรับการเข้ามาของ กฟผ.ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในห้วงที่ผ่านมา เป็นการเข้ามาเพื่อฉาบฉวย ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น กลุ่มนักศึกษา จะไม่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง และต้องการให้ กฟผ.มีการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีเพียงการเยียวยาหลังเกิดปัญหา ซึ่งถือว่าไม่ใช่มาตรการป้องกัน
อย่างไรก็ตาม ในการจัดเวทีนั้นได้มีนักศึกษาให้ความสนใจจำนวนมาก โดย นายดำรงพันธ์ ใจห้าว อาจารย์ประจำคณะมนุษศาสตร์สังคมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการได้เปิดเผยบนเวทีว่าได้ทำหนังสือเชิญตัวแทนของฝ่าย กฟผ.เพื่อมาชี้แจงและให้ข้อมูลกับนักศึกษา เรียบร้อยแล้วแต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการส่งตัวแทนมาเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไม่ส่งตัวแทนมาร่วมชี้แจงเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลภายใน กฟผ.ถึงการไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเวที ได้รับการเปิดเผยว่า ทาง ม.ราชภัฏได้ส่งหนังสือเชิญไปจริง ซึ่งในคราวแรกนั้นเตรียมที่จะส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจง แต่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มคนภายนอกที่พยายามสร้างภาพตนเองว่าเป็นสื่อมวลชนไปรับทำงานหลายกรณีใน กฟผ.พยายามคัดค้านว่าอย่าเดินทางไปร่วมเวที เนื่องจากหากตอบไม่ได้หรือชี้แจงไม่ได้จะเป็นผลลบ
ทำให้คณะทำงานที่มีหน้าที่ชี้แจงนั้นไม่เข้าร่วม ซึ่งได้สร้างความกังวลใจให้กับเจ้าหน้าที่ กฟผ.บางฝ่ายเป็นอย่างมาก โดยพยายามเดินเรื่องใหม่ว่าการจัดเวทีไม่ว่าใครจัดก็ตามหากมีการเชิญ กฟผ.เข้าไปนั้นจะต้องไปร่วมชี้แจงด้วยทุกครั้ง ครั้งนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดมาก ซึ่งเป็นช่องที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำงานด้านนี้ไม่มีความจริงกับชาวบ้าน นักวิชาการ นักศึกษาที่ต้องการข้อมูล อาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในพื้นที่บางรายก็เป็นได้