xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เติมเชื้อไฟแจกเสื้อยืดสกรีนข้อความท้าท้ายกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - กฟผ.เติมเชื้อไฟแรงต้านถ่านหินแจกเสื้อยืดสกรีนข้อความท้าท้าย “ต้องการโรงไฟฟ้า”ชาวบ้านเมินไม่สวม นักวิชาการสับสร้างมายาคติหวังคนภายนอกชุมชนกดดันชาวบ้าน

วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพื้นที่โครงการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 800 เมกกะวัตถ์ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 2 โรงซ้อน ในอำเภอท่าศาลา และอำเภอหัวไทร ทำให้มีสถานการณ์ในการต่อต้านคัดค้านขยายตัวอย่างกว้างขวางตามลำดับ

ล่าสุด กฟผ.ยังคงเดินหน้าตามแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้วิตก หรือสนใจถึงผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับ กฟผ.เอง โดยหลังจากที่ประชาชนนับหมื่นคนในอำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายวิชาการต่างๆ ได้มีความเคลื่อนไหวร่วมกันในการแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ท่าศาลา อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อวันที่ 22-24 ก.พ.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนั้น ทีมเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดทำเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความตัวอักษรสีเขียว ความว่า “ลูกหลานอ่านหนังสือ ที่พึ่งคือแสงสว่าง เราต้องการโรงไฟฟ้า” โดยการแจกจ่ายเสื้อดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้พุ่งเป้าไปตามชุมชนต่างๆ ที่สามารถเข้าไปได้ เช่นกลุ่มสตรี กลุ่มนักเรียน กลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการรับเสื้อจากเจ้าหน้าที่ กฟผ.แล้ว ไม่มีใครกล้าสวมใส่ออกมาภายในชุมชน เนื่องจากเกรงผลกระทบเพราะส่วนใหญ่คนในชุมชนมีปฏิกิริยากับโครงการนี้เป็นอย่างมาก การที่นำเอาเสื้อมาแจกแถมมีข้อความเช่นนี้เสมือนว่าไปท้าทายความรู้สึกของประชาชนในส่วนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากอยู่แล้วจะขยายวงเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่อยู่ในพื้นที่ท่าศาลาเอง

ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แสดงความเห็นว่า วิธีการนี้เป็นความต้องการในการเผยแพร่มายาคติ ต้องการให้ชาวบ้านรู้ในสิ่งที่การไฟฟ้าต้องการอยากให้รู้ จึงอ้างข้อความนี้เข้ามา ในทำนองว่าเด็กต้องใช้ไฟฟ้าอ่านหนังสือแท้จริงนั้นเด็กอ่านหนังสือใช้ไฟฟ้าแค่ไหนกัน แต่ไม่ได้บอกต่อว่าถ่านหินที่นำมาผลิตไฟฟ้าไปสนับสนุนการใช้พลังงานขนาดใหญ่ต่างหาก

“วิธีนี้ต้องการให้คนหลงเชื่อ มายาคตินี้จะสร้างให้คนภายนอกรู้สึกว่าได้รับผลกระทบหากไม่มีโรงไฟฟ้า จะกลายเป็นมติสาธารณะเข้ามากดดันชาวบ้าน วิธีการของ กฟผ.คือการเอาทุนมาจ่ายแจกสนับสนุน หน่วยงาน จังหวัด มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะมีผลกระทบกับ กฟผ.ให้เห็นคล้อยตาม แล้วเอาเสียงเหล่านี้ไปสู้กับชาวบ้าน หากชาวบ้านไม่ให้สร้างเท่ากับเห็นแก่ตัว เป็นวิธีการที่สกปรก”

ดร.เลิศชาย ยังแนะนำอีกว่า ชาวบ้านมีหนทางเดียวที่จะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง จะต้องออกมาเปิดโปงมายาคติเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ยอมจำนน พยายามสื่อให้เห็นไปเลยว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระให้ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น