xs
xsm
sm
md
lg

เก็บบรรยากาศงานวิจัย NAC 2011 พร้อมสาธิตการตรวจวัดรังสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าของผลงาน “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า” จากโรงเรียนบึงสามพันวิทยาคม จ.เพชรบูรณ์ กำลังอธิบายถึงแนวความคิดและหน้าที่การทำงานของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
งานประชุมวิชาการ สวทช. "NAC 2011" โชว์นิทรรศการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ 5 มิติ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู สัมมนาทางวิชาการกว่า 30 เรื่อง ด้าน ปส.ร่วมสาธิตการตรวจวัดรังสี

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดงานการประชุมประจำปี 2554 หรือ (NSTDA Annual Conference: NAC 2011) ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.54 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” พร้อมด้วยนิทรรศการแสดงผลงาน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้รวบรวมบรรยากาศการจัดงานมาให้ชม

ภายในงานมีการการเสนองานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาหลักของประเทศ ได้แก่ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และนาโนเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติใน 5 มิติ ได้แก่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ มากกว่า 30 หัวข้อ อาทิ ป่าชายเลนกับการต้านแรงสึนามิ...รับมือภัยธรรมชาติด้วยธรรมชาติ การใช้เรือหุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อวางเครือข่ายสื่อสารฉุกเฉินแบบมัลติมีเดียในพื้นที่สถานการณ์ภัยพิบัติ รับมือภัยพิบัติ ลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย เป็นต้น และนิทรรศการทั้งหมด 4 โซน

สำหรับโซนที่ 1. เป็นนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย จัดแสดงผลงานจากโครงการต่างๆ อันเป็นโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ เพื่อการศึกษา และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม อาทิ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย โครงการกล้องดุดาวพีวิซีเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา โครงการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์หนังสือหายากจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โครงการพัฒนาข้อเข้าเทียมแบบสี่จุดหมุนเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

มาต่อกันโซนที่ 2.เป็นนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จัดแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาที่มุ่งแก้ปัญหาและรับมือภัยพิบัติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร การเฝ้าระวังโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการดำรงชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีวัสดุ อาทิ โครงการเสื้อเกราะป้องกันกระสุน โครงการชุดช่วยหายใจยามฉุกเฉินเพื่อการหนีอัคคีภัย โครงการการเชื่อต่อเครือข่ายบริการรถสื่อสารฉุกเฉิน และยังมีบูธของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่มาสาธิตการตรวจวัดปริมาณรังรีกันอีกด้วย

ถัดมาเป็นโซนที่ 3.นิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการของ สวทช. จัดแสดงผลงานที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชน และแนะนำการบริการแบบครบวงจรของ สวทช. อาทิ รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องเก็บตัวอย่างอากาศสำหรับฝุ่นละอองลอยขนาดเล็ก ระบบจัดการเหตุฉุกเฉินทางรังสีและน้ำท่วม

และโซนสุดท้ายเป็นนิทรรศการเพื่อนำเสนองานวิจัยที่ สวทช.และหน่วยงานพันธมิตรกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบความก้าวหน้าของงานวิจัย ในเรื่องที่มีความสำคัญ อาทิ งานวิจัยเพื่อพัฒาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ผลงานวิจัยมาลาเลีย การประเมินความเสี่ยงอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานการประชุมประจำปีของ สวทช. ได้ที่อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.54
นายปวิช นิจประกิจ กำลังสาธิตการใช้สารชีวบำบัดภัณฑ์ ที่สามารถช่วยขจัดคราบมันไม่ว่าจะเป็นห้องครัว ห้องน้ำ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวัฒนชัย  จันทร์ติ๋ม (ซ้าย) และนายจิรภัทร์ มั่นเหมาะ (ขวา) นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หนึ่งในทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดและวิจัยฝุ่นละออง PM 2.5
ผู้เข้าร่วมงาน NAC2011 ต่างสนใจผลิตภัณฑ์เครื่องช่วยหายใจหนีไฟ ซึ่งบริษัท นิรินธน์ดีไซน์ เป็นผู้ที่ออกแนวความคิดด้านการป้องกันภัยนี้ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ขยายออกสู่ตลาดไปแล้วกว่า 8 ปี
เจ้าหน้าทีประจำบูธของผลงานการวิจัยระบบค้นหาลายผ้าตามอารมณ์กำลังอธิบายถึงระบบการทำงานให้กับผู้ที่สนใจ
นายวรัญญู ผิวทองคำ เจ้าของผลงานการวิจัยรถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทย ได้แนวคิดมาจากเหตุการสึนามิที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2547
เจ้าหน้าที่ประจำบูธโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ ป่าไม้ด้วยพันธุ์ไม้โครงสร้าง และการให้ระดับการศึกษาในระดับพื้นที่  กำลังอธิบายให้ผู้ที่สนใจฟังว่าในประเทศไทยมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องฟื้นฟูและให้ป่าคืนสภาพให้เร็วที่สุด
เจ้าหน้าที่ประจำบูธของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โชว์เครื่องตรวจวัดระดับรังสี
ผู้ร่วมงาน NAC2011 ให้ความสนใจกับเครื่องตรวจวัดระดับรังสี พร้อมให้เจ้าหน้าที่ประจำบูธสาธิตการตรวจวัดอีกด้วย
นางสาวกฤษณา สุริยศ  หนึ่งในทีมวิจัยเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-BOX 4.0
นายสายฝน ทมกระโทก หนึ่งในทีมวิจัยโครงการการจำลองคลื่นพายุซัดฝั่งและภาวะอุทกภัยตามแนวชายฝั่ง กำลังอธิบายถึงแนวคิดการสร้างแบบจำลองดังกล่าวขึ้นมา
เจ้าหน้าที่ประจำบูธโครงการถ่ายสำเนาอิเล็กทรอนิกส์หนังสือหายากจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ากำลังสาธิตการทำงานของเครื่องดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ประจำบูธของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กำลังสาธิตการประดิษฐ์ลูกข่างหลากสีอย่างง่าย ผลิตจากแผ่นซีดี ดินน้ำมัน และลูกแก้ว
นางสาวอารดา สังขนิตย์  นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสุราษฏ์พิทยากำลังสาธิตผลงาน Eco-Plastics ซึ่งเป็นพลาสติกที่สกัดสารเจลาตินจากเกล็ดปลา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ใน 28 วัน
หลังจากที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จทรงเปิดงานนิทรรศการ NAC2011 จากนั้นบรรยากาศในงาน มีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการเป็นจำนวนมาก
มีผู้ร่วมงานสนใจงานวิจัยการพัฒนาอุปกรณ์ดีเอ็นเอไฮบริไดเซชั่น (DNA Hybridization) เป็นจำนวนมาก
บรรยากาศภายในงาน  NAC 2011 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงานได้ถึงวันที่ 26 มี.ค.54
กล้องดูดาวพีวิซีเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา หนึ่งในนิทรรศการโซนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กำลังโหลดความคิดเห็น