xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดประชุมวิชาการ สวทช. ตรัสภัยพิบัติเกิดเพราะธรรมชาติขาดสมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทรงทอดพระเนตรการสาธิตตรวจวัดปริมาณรังสี ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ภาพจากสวทช.
สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ทรงมีพระราชดำรัสว่า ภัยพิบัติมีเหตุทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ที่ทำให้ธรรมชาติขาดสมดุล สร้างความเสียหาย จึงเกิดการแสวงหาเครื่องมือทำนายและแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยีรับมือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงทำให้มนุษย์เกิดสำนึกรักษาสมดุลธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมประจำปี 2554 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ (NSTDA Annual Conference: NAC 2011) ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย วันที่ 24 มี.ค.54 เวลา 09.00 น. โดยมี นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะเฝ้ารับเสด็จ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสระหว่างเสด็จเปิดงานการประชุมประจำปี 2554 ของ สวทช. ว่า ภัยพิบัติมีสาเหตุจากทั้งธรรมชาติและจากการกระทำมนุษย์เอง ที่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ภัยพิบัติสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต จิตใจ และการประกอบอาชีพ ทำให้มนุษย์พยายามแสวงหาเครื่องมือต่างๆ เพื่อจะป้องกันอันตรายจากภัยพิบัติมาเป็นเวลานาน

"ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มนุษย์จึงหวังว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสามารถช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดจากภัยพิบัติ เช่น เทคโนโลยีการก่อสร้าง เทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างให้ต้านทานภัยพิบัติได้ เทคโนโลยีที่จะช่วยทำนายหรือเตือนภัยล่วงหน้า เป็นต้น การให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องสาเหตุการเกิด และวิธีปกป้องตนเองเมื่อเกิดภัยพิบัติก็เป็นเรื่องสำคัญ และสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ทั้งจะช่วยโน้มน้าวให้มนุษย์เกิดความสำนึกเรื่องการรักษาสมดุลของธรรมชาติ"

"เป็นที่น่ายินดีที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดงานประชุมวิชาการ นำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ให้สาธารณชนเกิดความรู้ความเข้าใจ ข้าพเจ้าหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานวิจัยเรื่องภัยพิบัติเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ชนในชาติ และแผ่ขยายไปถึงมวลมนุษยชาติทั่วโลก"

จากนั้น ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท กราบบังคมทูล ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานประชุมประจำปี สวทช. ว่า สวทช.จัดการประชุมประจำปีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลงานวิจัยและพัฒนา ที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรได้ดำเนินการ ในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อในการจัดงาน คือ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” โดยการประชุมเริ่มขึ้นในวันที่ 24-26 มีนาคม 2554

การประชุมครั้งนี้ มีแนวคิดการเสนองานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาหลักของประเทศ ได้แก่ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และนาโนเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติใน 5 มิติ ได้แก่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยกิจกรรมภายในงาน จะประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ และนิทรรศการ

สำหรับการสัมมนาทางวิชาการ มากกว่า 30 หัวข้อ นั้น ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งใน สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ตลอดจนเกษตรกรผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการรับมือกับภัยพิบัติ ร่วมเป็นวิทยากรจาก Institute of Climate Change and Global Change Research, จาก Australian Institute of Marine Science และ จาก บริษัท IBM นอกจากนี้ ยังมีการจัด Thai-Korea Joint Symposium on Nanotechnology เพื่อนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย และประเทศเกาหลี ร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย

นิทรรศการที่จัดแสดง ได้แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ 1. นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย จัดแสดงผลงานจากโครงการต่างๆ อันเป็นโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ เพื่อการศึกษา และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

2.นิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จัดแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาที่มุ่งแก้ปัญหาและรับมือภัยพิบัติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร การเฝ้าระวังโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการดำรงชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีวัสดุ เป็นต้น

3.นิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการของ สวทช. จัดแสดงผลงานที่พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชน และแนะนำการบริการแบบครบวงจรของ สวทช. เช่น การบริการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี

และ4.นิทรรศการเพื่อนำเสนองานวิจัยที่ สวทช.และหน่วยงานพันธมิตรกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบความก้าวหน้าของงานวิจัย ในเรื่องที่มีความสำคัญ

ภายในพิธีเปิดงานครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดและแข่งขันในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ ได้แก่ โครงการนวัตกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม โครงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 โครงการประกวด Thailand Animation Contest และโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 รวมทั้งสิ้น 16 รางวัล

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. กล่าวด้วยว่า กิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้บุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในการนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตลอดจนอาศัยการเชื่อโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปกับระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็กและเยาวชน และบุคคลทั่วไปทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ผ่านในหลากหลายกิจกรรม เพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนัก รวมไปถึงสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระจายความรู้ออกสู่สังคมไทยให้ทั่วถึงและเท่าเทียม.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน NAC 2011 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ”  ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เวลา 09.00 น. วันที่ 24 มี.ค. 54
ทรงทอดพระเนตรงานวิจัยรถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
ทรงทอดพระเนตรข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน
กำลังโหลดความคิดเห็น