xs
xsm
sm
md
lg

สคบ.เตือนผู้บริโภคระวังซื้อสิ่งทอนาโนปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ (แฟ้มภาพ)
“องอาจ” เตือนผู้บริโภค ระวังตกเป็นเหยื่อ “สิ่งทอนาโนปลอม” หลัง “สคบ.” ร่วมกับ “ศูนย์นาโนฯ” และ “สมาคมนาโนฯ” เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจสอบพบของปลอมอื้อ เร่งออกประกาศสินค้าควบคุมฉลากใน 30 วัน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แถลงว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการนาโนเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งทอ เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษ อาทิ การป้องกันเชื้อแบคทีเรีย การป้องกันน้ำ และการกันเปื้อน เป็นต้น ทำให้ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนที่ออกวางจำหน่ายตามท้องตลาดอย่างมากมาย

โดยในปีที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนวางขายจำนวนมาก เช่น เสื้อนาโน ถุงเท้านาโน ชุดชั้นในนาโน ถุงมือนาโน ผ้าเช็ดผมนาโน ผ้าเช็ดรถนาโน เป็นต้น ซึ่งมีการแอบอ้างถึงความเป็น “นาโนเทคโนโลยี” พร้อมทั้งตั้งราคาขายไว้ค่อนข้างสูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์สิ่งทอปกติ 2-3 เท่า ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรฐานในการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนอย่างชัดเจน จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนเข้าใจผิดและเกิดความไม่เชื่อมั่นในการใช้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนได้

นายองอาจ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ตนจึงได้มอบให้ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้า ที่ไม่ปลอดภัย สคบ. ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดรายย่อยและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ผ้าเช็ดผม ผ้าเช็ดทำความสะอาดเอนกประสงค์ ผลการทดสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนที่สุ่มเก็บมาทดสอบจำนวนหนึ่งอาจเป็นของปลอมหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นาโน

“จากการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope; SEM) พบว่า ขนาดของเส้นใยสิ่งทองส่วนใหญ่อยู่ในระดับหน่วยไมโครเมตรเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับความไม่ปลอดภัย และถูกเอาเปรียบจากการใช้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนปลอม เช่น อ้างถึงคุณสมบัติการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหากเป็นนาโนปลอม อาจมีผลทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย เกิดผดผื่น หรืออาการแพ้ของผิวหนัง”

รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า สคบ.จึงจะมีการคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้า “ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโน” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคในการสังเกตและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนของแท้ 2.กำหนดให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต ต้องมีการขอรับรองและจัดทำฉลากให้กับผลิตภัณฑ์นาโน ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตมีการผลิตสินค้านาโนขึ้นมา ซึ่งสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กำลังจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์นาโนคิว (Nano Q) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนประกอบของวัสดุนาโนและมีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างถึง เช่น สมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การป้องกันน้ำ และกันเปื้อน เป็นต้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการฉลากดังกล่าวที่ออกโดยสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นี้ ต้องนำผลิตภัณฑ์เข้ารับการทดสอบ 2 อย่าง คือ ทดสอบว่ามีวัสดุนาโนและมีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

สำหรับมาตรการของ สคบ.จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์นาโนทุกชนิดเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 มาตรา 30 ที่กำหนดให้สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการใช้สินค้า หรือโดยสภาพของสินค้า หรือมีสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในการที่จะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า แต่สินค้าดังกล่าวไม่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก มีอำนาจกำหนดให้สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งจะเร่งรัดให้มีการออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์นาโน เป็นสินค้าควบคุมฉลากภายใน 30 วัน และหากยังมีการฝ่าฝืน ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อขายในราชอาณาจักร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายองอาจ กล่าวว่า ในขณะเดียวกัน ผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก แต่ไม่จัดให้มีฉลากหรือมีฉลากที่ไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการโฆษณาขายสินค้า ทั้งที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุคุณสมบัตินาโนตามที่ผู้จำหน่ายกล่าวอ้าง หลอกให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้น ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตนจะให้ สคบ.ออกสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในท้องตลาดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่และหากผู้บริโภค พบว่า สินค้าที่ซื้อไปใช้แล้วไม่ปลอดภัย ก็สามารถส่งมาให้ศูนย์ทดสอบสินค้าของสคบ.พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยติดต่อได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สคบ.โทร.0-2141-3646-8 E-mail: pc-testing@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น