xs
xsm
sm
md
lg

ปูดกระดาษ 3 หน้า แลกงบ 2.4หมื่นล้าน ปลอดโวปีนี้ท่วมแค่ 1%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ปลอดประสพ"ชี้โมเดลต่างประเทศคำนวณแล้วไทยโอกาสถูกน้ำท่วมแค่1% เชื่อท่วมใหญ่ต้องรออีก 100ปี ปูด!ครม.อนุมัติ งบ 2.4หมื่นล. ป้องน้ำแบบไร้รายละเอียด แถมมีเอกสารแค่ 3 หน้า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เสนอ ทำอีไอเอ-เอชไอเอ ก่อนสร้างโครงการแสนล้าน หวั่นชาวบ้านฟ้องวุ่นภายหลัง

วานนี้(14 มี.ค.55)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ นายกรัฐมนตรีเงา เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีเงา โดยมีมติให้ติดตามการอนุมัติงบประมาณ 24,000 ล้านบาท ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะเร่งด่วน ตามที่ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กนอช. เสนอให้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม โดยให้มีการยกระดับถนน ทำคันกั้นน้ำ สร้างท่อระบายน้ำ กว่า 296 โครงการอย่างใกล้ชิด

ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวการจัดงาน “รู้ สู้พิบัติภัย” ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-28 มี.ค.นี้ พร้อมกับแนะนำนวัตกรรมเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน หากเกิดอุทกภัยขึ้นอีก โดยมีนายทวีศักดิ์ กออนันตกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแนะนำนวัตกรรมด้วย

นายปลอดประสพ กล่าวว่า เพิ่งเดินทางกลับจากการไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ และประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณโอกาสความเป็นไปได้ ภายใต้พื้นฐานของอุณหภูมิขั้วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และปัจจัยอีกหลายอย่าง เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเกิดมหาอุทกภัยขึ้นอีก

ทั้งนี้ ผลที่ออกมาระบุว่า มีโอกาสที่จะเกิดเพียง 1% เท่านั้น หรือถ้าหากเกิดจริง ความเสียหายก็จะลดลงกว่า50% แต่ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท ได้มอบหมายให้สวทช.ไปคิดค้นนวัตกรรม และงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน อาทิเช่น ถุงโพลีเมอร์ หรือถุงnSack ที่เปรียบเสมือนกระสอบทราย เพียงแค่โยนลงไปในน้ำ ก็พองออกเป็นกระสอบน้ำ ใช้สำหรับป้องกันน้ำท่วมได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อว่าจะให้ใช้ชื่อว่าอะไร แต่จะจัดประกวดให้ประชาชนตั้งชื่อชิงรางวัล 10,000 บาทแทน พร้อมกันนี้ จะให้ภาคเอกชนมาซื้อสิทธิบัตร และพัฒนาร่วมกันเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในอนาคต

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ นายปลอดประสพกล่าวว่า ส่วนที่รับผิดชอบ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขณะนี้กำลังดูเรื่องการปรับระบบตือนภัยใน 3 เสาหลักได้แก่ด้านคลังข้อมูลข่าวสาร ระบบการเตือนภัย และระบบการสั่งการ ซึ่งเรื่องของข้อมูลข่าวสารนั้น จะมีส่วนเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และประเมินผลอยู่ที่ศูนย์สารสนเทศน้ำ ในกระทรวงวิทย์ฯ ขณะเดียวกันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็จะนำข้อมูลไปประมวลผลเพื่อประกาศเตือนภัยกับประชาชนต่อไป อย่างไรก็ตามคนที่มีหน้าที่สั่งการได้คนเดียวก็คือประธานกบอ. หรือตัวนายปลอดประสพเอง ซึ่งหลังจากนี้จะพูดเล่นไม่ได้ หรือคิดตามอารมณ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นเรื่องจริงจังและประกาศเตือนภัย หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น

ขณะที่การหาพื้นที่รับน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) นั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า ยังไม่ลงตัวทั้งหมด มีเพียงแต่พื้นที่ที่กรรมการแต่ละคนให้ความเห็นเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดที่ตั้งเป้าไว้คือต้องรับน้ำได้ 5,000 ล้านลบ.ม. ,อยู่ห่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้มากที่สุด, ประชาชนต้องไม่คัดค้าน และหากกระทบกับวิถีชีวิตต้องจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งอยากให้เข้าใจตรงกันว่าพื้นที่ฟลัดเวย์เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นปกติอยู่แล้ว จะไม่ใช้เขตที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่รับน้ำ และทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเสร็จในเร็ว ๆ นี้ แต่ยืนยันว่าจะเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากแน่นอน

มีรายงานว่า วาระครม. รวมถึงวาระคณะกรรมการนโยบายน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ที่เสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีเสียเล่าลือว่า มีเอกสารที่เสนอเพียง 3 แผ่น พร้อมลงชื่อ ผู้เกี่ยวข้องที่เสนอ แต่ครม.กลับอนุมัติงบ 246 โครงการเร่งด่วน คมนาคม แก้ปัญหาน้ำท่วม 2.4 หมื่นล้าน แบบไร้รายละเอียด

มีเพียงการเสนอในหัวข้อของโครงการ แต่เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมให้ เสร็จทันภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2555 จึงจำเป็นต้องอนุมัติให้ดำเนินการไปก่อน
ที่รัฐสภา กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล อาทิ กรมชลประธาน องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) สำนักงบประมาณ และ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ที่ประชุมได้สอบถามแนวทางการแก้ไขรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา อาทิ การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมอุสาหกรรม การทำพื้นที่รอบรับน้ำ(แก้มลิง) และ การทำพื้นที่ ฟลัดเวย์ ว่ารัฐบาลมีการดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง หรือไม่คือ โครงการที่ทำ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และ สุขภาพ ต้องทำผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ พร้อมทั้ง จัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ ตัวแทนจากภาครัฐบางที่เข้าร่วมชี้แจงไม่สามารถตอบได้

ตนจึงฟันธงว่ารัฐบาลต้องทำตามขั้นตอนเช่นนี้ก่อน และเป็นไปตามการวางบรรทัดฐานของศาลปกครองที่วางไว้ ในคดีหมายเลข 3/52/16 ม.ค. 52 ว่า การทำโครงการใดๆที่อาจเกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน จำเป็นจะต้องทำตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

ทั้งนี้ นางรัชฎาภรณ์ จึงได้สรุปผลการประชุม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแจ้งรัฐบาลให้จัดทำตามขั้นตอนด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ก่อนที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าว เพราะหากไม่ทำอาจถูกชาวบ้านฟ้องศาลปกครองจนบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่15 มี.ค.เวลา 14.00น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดี ที่นางทศสิริ พูลนวล ชาวบ้านใน จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อให้มีคำสั่งระงับการกู้ถนนสาย 340 ถนนกาญนาภิเษก และระงับการปิดประตูระบายน้ำ และเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วยรอยต่อกับพื้นที่ จ.นนทบุรี

โดยฟ้องว่า ศปภ.และ กทม.ปิดกั้นทางระบายน้ำทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของ จ.นนทบุรี ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลได้ เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังและเน่าเสียบริเวณบ้านพักของตนเองในท้องที่ อ.บางบัวทอง และ อ.ใกล้เคียงใน จ.นนทบุรี จึงขอให้หน่วยงานทางปกครองทั้งสองดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ จ.นนทบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น